กฎกระทรวง
กำหนดวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารประเภทควบคุมการใช้
พ.ศ. 2566
------------------------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 (3) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 8 (2) (4) และ (6) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2543 และมาตรา 8 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคาร ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (มีผลบังคับใช้ 27 กุมภาพันธ์ 2567)
ข้อ 2 กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับกับอาคารประเภทควบคุมการใช้ตามมาตรา 32
ข้อ 3 ในกฎกระทรวงนี้
“วัสดุตกแต่งผิวภายใน” หมายความว่า วัสดุที่ใช้ตกแต่งผิวของผนัง ฝ้าเพดาน เสา คาน ฝา หรือแผงกั้นที่ติดอยู่กับที่หรือเคลื่อนย้ายได้ ที่อยู่ภายในอาคาร และหมายความรวมถึงวัสดุบุผนังที่ใช้เพื่อประโยชน์ในการป้องกันเสียงและใช้เป็นฉนวนกันความร้อน
“วัสดุตกแต่งผิวพื้นภายใน” หมายความว่า วัสดุที่ใช้ตกแต่งผิวด้านบนของพื้น ทางลาด บันได และลูกตั้ง ที่อยู่ภายในอาคาร และหมายความรวมถึงวัสดุคลุมหรือปูบนส่วนดังกล่าว
“วัสดุตกแต่งผิวภายนอก” หมายความว่า วัสดุที่ใช้ตกแต่ง ปิด หรือหุ้มผิวผนังภายนอก เพื่อปกป้องสภาวะอากาศ สร้างความเป็นฉนวน หรือเพื่อความสวยงาม
“ผนังภายนอก” หมายความว่า ส่วนก่อสร้างในแนวตั้งซึ่งกั้นด้านนอกอาคารและทำมุมกับแนวราบตั้งแต่หกสิบองศาขึ้นไป
“ส่วนประกอบของหลังคา” หมายความว่า ส่วนประกอบหรือระบบที่ได้รับการออกแบบและติดตั้งเพื่อปกป้องสภาวะอากาศและต้านทานแรงหรือน้ำหนักบรรทุก และหมายความรวมถึงวัสดุที่ใช้มุงหลังคา แผ่นรองใต้หลังคา และฉนวน แต่ไม่รวมถึงชิ้นส่วนของโครงสร้างหลังคาที่รองรับส่วนประกอบหรือระบบดังกล่าว
“แผ่นโลหะคอมโพสิต” หมายความว่า แผ่นวัสดุที่ประกอบด้วยผิวโลหะด้านหน้าและด้านหลัง ประกบยึดกับแกนกลางหรือไส้กลางซึ่งเป็นวัสดุเสริมความแข็งแรงหรือฉนวน
“กระจกนิรภัยหลายชั้น” หมายความว่า กระจกตั้งแต่สองชั้นขึ้นไปประกบกันโดยมีวัสดุ คั่นกลางระหว่างชั้นและยึดกระจกแต่ละชั้นให้ติดแน่นเป็นแผ่นเดียวกัน และเมื่อกระจกแตกวัสดุคั่นกลางดังกล่าวต้องยึดเศษหรือชิ้นส่วนของกระจกไม่ให้หลุดออกมา
“กระจกนิรภัยเทมเปอร์” หมายความว่า กระจกที่ผ่านกรรมวิธีอบด้วยความร้อน และมีคุณสมบัติในการลดอันตรายจากการบาดของเศษกระจกเมื่อกระจกแตก
“ระบบผนังกระจก” หมายความว่า กระจกและระบบติดตั้งที่ใช้เป็นผนังภายนอกของอาคารเพื่อปกป้องอาคารจากการซึมผ่านของอากาศ น้ำ ลม และเสียงจากภายนอก
“วัสดุไม่ติดไฟ” หมายความว่า วัสดุที่ใช้งานและเมื่ออยู่ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่ใช้งานแล้วจะไม่ติดไฟ ไม่เกิดการเผาไหม้ ไม่สนับสนุนการเผาไหม้ หรือปล่อยไอที่พร้อมจะลุกไหม้เมื่อสัมผัสกับเปลวไฟ หรือความร้อน ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
“ค่าฟลักซ์การแผ่รังสีความร้อนวิกฤติ” หมายความว่า ระดับของพลังงานการแผ่รังสีความร้อนต่อหนึ่งหน่วยพื้นที่ ซึ่งห่างจากจุดปล่อยรังสีความร้อนน้อยที่สุดที่ไม่ทำให้เกิดเพลิงไหม้
“ดรรชนีการลามไฟ” หมายความว่า ตัวเลขเชิงเปรียบเทียบที่ได้จากการสังเกตการลามไฟเทียบกับเวลาของตัวอย่างทดสอบ
“ดรรชนีการกระจายควัน” หมายความว่า ตัวเลขเชิงเปรียบเทียบที่ได้จากการวัดปริมาณควันเทียบกับเวลาของตัวอย่างทดสอบ
“หน่วยงานรับรองที่เชื่อถือได้” หมายความว่า หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา หรือนิติบุคคล ที่มีบุคลากรและเครื่องมือในการทดสอบ วิเคราะห์ หรือประเมินผลเกี่ยวกับวัสดุและอุปกรณ์ประกอบอาคาร ที่กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ขึ้นทะเบียนไว้และได้รับรองผลการทดสอบ วิเคราะห์ หรือประเมินผลจากผู้มีอำนาจในหน่วยงานนั้น
หมวด 1
บททั่วไป
-----------------------------
ข้อ 4 การใช้วัสดุและผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และสภาพการใช้งาน โดยต้องพิจารณาถึงความมั่นคงแข็งแรง ความปลอดภัยจากอัคคีภัย ความปลอดภัยจากการร่วงหล่น การสาธารณสุข และการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
ข้อ 5 การใช้วัสดุและผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารนอกเหนือจากที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้ หากมีผลต่อความมั่นคงแข็งแรง ความปลอดภัยจากอัคคีภัย ความปลอดภัยจากการร่วงหล่น การสาธารณสุข และการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การใช้วัสดุหรือผลิตภัณฑ์ดังกล่าวต้องผ่านการทดสอบและได้รับการรับรองจากหน่วยงานรับรองที่เชื่อถือได้
ข้อ 6 การใช้วัสดุและผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการก่อสร้างภายในอาคารต้องไม่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองในอากาศ อันอาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้ใช้อาคาร เช่น ใยหิน ซิลิกา ใยแก้ว เว้นแต่ได้มีการฉาบหุ้มหรือปิดวัสดุนั้นไว้เพื่อป้องกันมิให้เกิดฝุ่นละอองฟุ้งกระจายและสัมผัสกับอากาศที่บริเวณใช้สอยของอาคาร
ในกรณีที่มีการใช้วัสดุและผลิตภัณฑ์ในการก่อสร้างภายในอาคารที่ปล่อยสารอินทรีย์ระเหยง่าย เช่น ฟอร์มาลดีไฮด์ ต้องใช้ในปริมาณที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้ใช้อาคาร
หมวด 2
วัสดุตกแต่งผิวภายในและวัสดุตกแต่งผิวพื้นภายใน
-----------------------------
ข้อ 7 การใช้วัสดุตกแต่งผิวภายในและวัสดุตกแต่งผิวพื้นภายในต้องพิจารณาถึงคุณสมบัติเกี่ยวกับการลามไฟในอาคาร การลุกติดไฟอย่างรวดเร็ว และการเกิดควันของวัสดุนั้น ทั้งนี้ ชนิดและการใช้วัสดุดังกล่าว ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
ข้อ 8 การใช้วัสดุตกแต่งผิวภายในนอกเหนือจากที่กำหนดในประกาศตามข้อ 7 หากเป็นอาคารชุมนุมคน สถานพยาบาล หรืออาคารสำหรับใช้เก็บวัตถุอันตราย หรือพื้นที่ช่องทางเดินของโรงแรม อาคารชุด หรืออาคารอยู่อาศัยรวมหรือหอพักที่มีลักษณะเป็นอาคารขนาดใหญ่ ต้องมีดรรชนีการลามไฟไม่เกิน 75 และดรรชนีการกระจายควันไม่เกิน 450 เว้นแต่อาคารหรือส่วนของอาคารดังกล่าวมีการติดตั้งระบบดับเพลิงอัตโนมัติ วัสดุตกแต่งผิวภายในอาจมีดรรชนีการลามไฟไม่เกิน 200 ก็ได้
การใช้วัสดุตกแต่งผิวภายในตามวรรคหนึ่ง หากเป็นกรณีที่มีดรรชนีการลามไฟเกิน 75 หรือดรรชนีการกระจายควันเกิน 450 ให้ใช้ได้ไม่เกินร้อยละสิบของแต่ละพื้นที่ที่ติดตั้งวัสดุนั้น
การทดสอบดรรชนีการลามไฟและดรรชนีการกระจายควัน ให้เป็นไปตามมาตรฐานเอเอสทีเอ็มอี 84 (ASTM E 84) มาตรฐานยูแอล 723 (UL 723) หรือมาตรฐานการทดสอบในเรื่องดังกล่าวที่รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
ข้อ 9 การใช้วัสดุตกแต่งผิวภายในที่มีความหนาน้อยกว่า 0.9 มิลลิเมตร เช่น วอลล์เปเปอร์ ซึ่งติดกับผิวผนังหรือฝ้าเพดานโดยตรง หากผิวผนังหรือฝ้าเพดานนั้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้ ให้วัสดุตกแต่งผิวภายในดังกล่าวได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามหมวดนี้
ข้อ 10 การใช้วัสดุตกแต่งผิวพื้นภายในนอกเหนือจากที่กำหนดในประกาศตามข้อ 7 หากเป็นวัสดุตกแต่งผิวพื้นของช่องทางเดินและทางหนีไฟ ต้องมีค่าฟลักซ์การแผ่รังสีความร้อนวิกฤติที่ทำให้วัสดุดังกล่าวติดไฟได้ไม่น้อยกว่า 2.2 กิโลวัตต์ต่อตารางเมตร ทั้งนี้ การทดสอบค่าฟลักซ์ การแผ่รังสีความร้อนวิกฤติ ให้เป็นไปตามมาตรฐานเอ็นเอฟพีเอ 253 (NFPA 253) หรือมาตรฐานการทดสอบในเรื่องดังกล่าวที่รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
หมวด 3
วัสดุตกแต่งผิวภายนอกและผนังภายนอก
-----------------------------
ข้อ 11 วัสดุตกแต่งผิวภายนอกหรือวัสดุที่ใช้เป็นผนังภายนอกต้องยึดเกาะกับตัวอาคารหรือส่วนต่าง ๆ ของอาคารด้วยวิธีที่ไม่ก่อให้เกิดการร่วงหล่นอันอาจก่อให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายต่อผู้ใช้หรือผู้สัญจรผ่านอาคาร
ข้อ 12 การใช้วัสดุที่ใช้เป็นผนังภายนอกต้องพิจารณาถึงคุณสมบัติของวัสดุในการต้านทานต่อสภาพภูมิอากาศ ลม น้ำ และความชื้น อันมีผลกระทบต่อการใช้งานภายในอาคาร หากวัสดุที่ใช้เป็นผนังภายนอกผลิตจากวัสดุประเภทโลหะ ต้องพิจารณาถึงคุณสมบัติของวัสดุในการต้านทานการกัดกร่อนด้วย
ข้อ 13 ผนังภายนอกที่เป็นระบบผนังสำเร็จรูปต้องได้รับการออกแบบและคำนวณให้สามารถต้านทานแรงหรือน้ำหนักบรรทุกได้อย่างปลอดภัย
ผนังภายนอกของอาคารสูงต้องได้รับการออกแบบและคำนวณให้สามารถต้านทานแรงลมได้โดยการคำนวณแรงลม ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
ข้อ 14 วัสดุตกแต่งผิวภายนอกหรือวัสดุที่ใช้เป็นผนังภายนอกต้องมีปริมาณการสะท้อนแสงได้ไม่เกินร้อยละสามสิบ โดยการทดสอบปริมาณการสะท้อนแสงดังกล่าว ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
ข้อ 15 ในกรณีที่ใช้แผ่นโลหะคอมโพสิตเป็นวัสดุตกแต่งผิวภายนอกหรือเป็นผนังภายนอก วัสดุที่ใช้ทำแกนกลางหรือไส้กลางของแผ่นโลหะคอมโพสิตต้องไม่ลามไฟและไม่กระจายควันอย่างรวดเร็ว โดยวัสดุดังกล่าวต้องมีดรรชนีการลามไฟไม่เกิน 75 และดรรชนีการกระจายควันไม่เกิน 450 ทั้งนี้ ห้ามมิให้ใช้พลาสติกประเภทโฟมเป็นแกนกลางหรือไส้กลางของแผ่นโลหะดังกล่าว
การใช้วัสดุชนิดอื่นนอกเหนือจากแผ่นโลหะคอมโพสิตตามวรรคหนึ่งเป็นวัสดุตกแต่งผิวภายนอกหรือผนังภายนอก ต้องมีดรรชนีการลามไฟและดรรชนีการกระจายควันไม่เกินค่าที่กำหนดในวรรคหนึ่งหรือหลักเกณฑ์ความปลอดภัยในการใช้วัสดุหรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารตามที่รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
หมวด 4
หลังคา
-----------------------------
ข้อ 16 ส่วนประกอบของหลังคาต้องได้รับการออกแบบและติดตั้งให้สามารถต้านทานแรงหรือน้ำหนักบรรทุกได้อย่างปลอดภัยและทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม
วัสดุมุงหลังคาต้องยึดติดกับโครงสร้างหลังคาอย่างมั่นคง ไม่หลุดปลิว หรือยกตัว เมื่อต้านทานแรงลม โดยการคำนวณแรงลม ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
หมวด 5
กระจก
-----------------------------
ข้อ 17 กระจกที่ใช้เป็นผนังภายนอก ประตู หน้าต่าง และช่องเปิดของผนังภายนอกของอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่ และอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ที่มีระดับความสูงตั้งแต่ชั้นที่สองขึ้นไป ต้องเป็นกระจกนิรภัยหลายชั้น เว้นแต่ช่องทางสำหรับการช่วยเหลือ ให้ใช้กระจกนิรภัยเทมเปอร์ และต้องทำเครื่องหมายช่องทางดังกล่าวให้เห็นอย่างชัดเจนทั้งภายนอกและภายในอาคารด้วย
ข้อ 18 กระจกที่ใช้เป็นผนังภายใน ประตู หน้าต่าง และช่องเปิดของผนังภายในของห้องโถงหรือทางเดินร่วมภายในอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่ และอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ต้องเป็นกระจกนิรภัยเทมเปอร์หรือกระจกนิรภัยหลายชั้น
กรณีประตูกระจกที่ไม่มีการยึดกรอบบาน และประตูกระจกและส่วนปิดกั้นของส่วนอาบน้ำ ต้องใช้กระจกนิรภัยเทมเปอร์
ข้อ 19 กระจกที่ยึดติดกับหรือใช้เป็นส่วนหนึ่งของราวกันตก ราวบันได และราวจับต้องเป็นกระจกนิรภัยหลายชั้น แต่หากการติดตั้งกระจกดังกล่าวเป็นแบบไม่มีกรอบบาน กระจกในแต่ละชั้นต้องเป็นกระจกนิรภัยเทมเปอร์และสามารถป้องกันการร่วงหล่นได้หากกระจกเกิดการแตกร้าว
ข้อ 20 กระจกและระบบติดตั้งที่ใช้เป็นส่วนหนึ่งของผนังภายนอก ประตู หน้าต่าง ช่องเปิด หรือที่ใช้งานภายนอก ต้องได้รับการออกแบบและคำนวณให้สามารถต้านทานแรงลมได้ โดยการคำนวณแรงลมให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
ระบบผนังกระจกต้องได้รับการออกแบบและคำนวณให้สามารถต้านทานแรงลมตามวรรคหนึ่ง และต้องพิจารณาการยืดหดตัวของผนังเนื่องจากความแตกต่างของอุณหภูมิด้วย
ระบบผนังกระจกของอาคารสูงที่อยู่ในบริเวณที่กำหนดในกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ต้องพิจารณาถึงการลดผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวด้วย
ข้อ 21 กระจกที่ใช้เป็นพื้นทางเดินหรือพื้นบันไดต้องเป็นกระจกนิรภัยหลายชั้นและต้องพิจารณาถึงคุณสมบัติการป้องกันการลื่นไถลด้วย โดยกระจกแต่ละชั้นต้องสามารถรับน้ำหนักบรรทุกได้ ตามที่รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
ข้อ 22 กระจกที่ใช้ตกแต่งผิวภายนอกหรือใช้เป็นผนังภายนอกต้องมีปริมาณการสะท้อนแสงได้ไม่เกินร้อยละสามสิบ โดยการทดสอบปริมาณการสะท้อนแสงดังกล่าว ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
ข้อ 23 กระจกที่เอียงทำมุมกับแนวดิ่งเกินสิบห้าองศา และหลังคาช่องกระจกของอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่ และอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ต้องเป็นกระจกนิรภัยหลายชั้น เว้นแต่กรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้
(1) เป็นกระจกนิรภัยเทมเปอร์ที่เอียงทำมุมกับแนวดิ่งไม่เกินสามสิบองศา และมีจุดสูงสุดของกระจกอยู่เหนือระดับพื้นทางเดินไม่เกินสามเมตร
(2) มีแผงรองใต้กระจกที่มีคุณสมบัติ ดังนี้
(ก) เป็นวัสดุไม่ติดไฟและเป็นตะแกรงที่มีขนาดของช่องว่างไม่เกิน 25 x 25 มิลลิเมตร หากติดตั้งในสภาพบรรยากาศที่มีการกัดกร่อนสูง แผงดังกล่าวต้องทำจากวัสดุที่สามารถต้านทานการกัดกร่อนได้
(ข) มีความมั่นคงแข็งแรงและสามารถรับน้ำหนักได้ไม่น้อยกว่าสองเท่าของน้ำหนักกระจก
(ค) ต้องยึดกับโครงสร้างหรือชิ้นส่วนโครงสร้างของอาคารอย่างมั่นคงแข็งแรง และติดตั้งอยู่ห่างจากกระจกไม่เกินหนึ่งร้อยมิลลิเมตร
(3) มีระบบการป้องกันการร่วงหล่นของแผ่นกระจก
(4) เป็นกระจกที่ติดตั้งอยู่เหนือพื้นที่ที่ไม่มีบุคคลเข้าอยู่หรือเข้าใช้สอยได้
หมวด 6
แผ่นยิปซัม
-----------------------------
ข้อ 24 การใช้แผ่นยิปซัมในอาคารต้องพิจารณาถึงสภาพและวัตถุประสงค์ของการใช้งาน หากใช้แผ่นยิปซัมเป็นส่วนหนึ่งของผนังหรือฝ้าเพดานที่มีอัตราการทนไฟตามที่กำหนดในกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นที่ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แผ่นยิปซัมที่ใช้ต้องเป็นประเภททนไฟ หรือหากพื้นผิวของแผ่นยิปซัมต้องสัมผัสกับความชื้น แผ่นยิปซัมที่ใช้ต้องเป็นประเภททนความชื้นหรือสามารถต้านทานความชื้นได้
กรณีของแผ่นยิปซัมที่ใช้เป็นส่วนประกอบของผนังหรือฝ้าเพดานที่มีอัตราการทนไฟตามวรรคหนึ่งในส่วนที่เป็นบริเวณรอยต่อระหว่างแผ่นยิปซัมดังกล่าวต้องมีการป้องกันแนวรอยต่อและอุปกรณ์ยึด เพื่อมิให้สัมผัสกับไฟโดยตรงในกรณีเกิดเพลิงไหม้
คุณสมบัติของแผ่นยิปซัมประเภทต่าง ๆ และการติดตั้งแผ่นยิปซัม ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
ข้อ 25 โครงคร่าวที่รับแผ่นยิปซัมจะต้องยึดติดกับชิ้นส่วนโครงสร้างอย่างมั่นคง และต้องสามารถรับน้ำหนักบรรทุกทั้งในส่วนของน้ำหนักตัวโครงคร่าวนั้น แผ่นยิปซัม และน้ำหนักบรรทุกอื่นที่มีการติดตั้งเพิ่มเติม เช่น การกรุผิวด้วยกระเบื้องบุผนัง การติดตั้งงานระบบต่าง ๆ
บทเฉพาะกาล
-----------------------------
ข้อ 26 ในระหว่างที่ยังไม่มีการออกประกาศของรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารตามกฎกระทรวงนี้ การออกแบบและคำนวณหรือการทดสอบที่เกี่ยวข้อง ให้กระทำโดยนิติบุคคลซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมหรือได้รับการรับรองโดยนิติบุคคลซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม โดยนิติบุคคลนั้นต้องมีวิศวกรระดับวุฒิวิศวกร สาขาวิศวกรรมโยธาตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร เป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษาและลงลายมือชื่อรับรอง การออกแบบและคำนวณหรือการทดสอบนั้น
ข้อ 27 อาคารที่ได้รับใบอนุญาตหรือใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร และยังก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้ไม่แล้วเสร็จ หรือที่ได้ยื่นขออนุญาตหรือได้แจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามมาตรา 39 ทวิ ไว้ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ และยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ให้ดำเนินการต่อไปตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2527) ออกตามความในพระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จนกว่าจะแล้วเสร็จ
ให้ไว้ ณ วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2566
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
เล่ม 140 ตอนที่ 53 ก ราชกิจจานุเบกษา 31 สิงหาคม 2566
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่กฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2527) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน ประกอบกับอาคารประเภทควบคุมการใช้ตามมาตรา 32 ยังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับลักษณะและคุณสมบัติของวัสดุและผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารดังกล่าวอย่างเหมาะสม สมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบันและมาตรฐานสากล จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้