ReadyPlanet.com
dot
ฐานข้อมูลกรมโยธาธิการและผังเมือง
กฎหมายเกี่ยวกับตรวจสอบอาคาร
ศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถตามมาตรา ๒๖/๔ (๒) สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร




ประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำรายงานการประเมินความเสี่ยง ของสถานที่บรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลวประเภทโรงบรรจุ พ.ศ. 2566

ประกาศกระทรวงพลังงาน
เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำรายงานการประเมินความเสี่ยง
ของสถานที่บรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลวประเภทโรงบรรจุ
พ.ศ.
2566
----------------------

อาศัยอำนาจตามความในข้อ 9 แห่งกฎกระทรวงสถานที่บรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลวประเภทโรงบรรจุ พ.ศ. 2564 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป…. (มีผลบังคับใช้ 7 กุมภาพันธ์ 2567)

ข้อ 2 รายงานการประเมินความเสี่ยง ต้องประกอบด้วยรายละเอียดอย่างน้อย ดังต่อไปนี้

(1) ข้อมูลรายละเอียดการประกอบกิจการ

(ก) ข้อมูลทั่วไปและแผนผังโดยสังเขปแสดงตำแหน่งที่ตั้งของโรงบรรจุพร้อมสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่อยู่รอบเขตโรงบรรจุ

(ข) แผนผังบริเวณโดยสังเขปแสดงลักษณะโรงบรรจุตามข้อ 11 (2) แห่งกฎกระทรวงสถานที่บรรจุก๊าสปิโตรเลียมเหลวประเภทโรงบรรจุ พ.ศ. 2564

(ค) ข้อมูลการเก็บก๊าสปิโตรเลียมเหลวและสารไวไฟอื่นในภายในเขตโรงบรรจุ

(ง) ขั้นตอนกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการรับจ่าย การจัดเก็บ การบรรจุ การขนส่ง การบำรุงรักษา และการทดสอบและการตรวจสอบภาชนะบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว ระบบท่อและอุปกรณ์ การตรวจวัดปริมาณก๊าซปิโตรเลียมเหลว และกระบวนการอื่นที่เกี่ยวข้อง

(จ) จำนวนบุคลากรในโรงบรรจุ และการจัดช่วงเวลาการทำงาน

(2) รายการสิ่งที่เป็นความเสี่ยงและอันตราย

(3) วิธีการชี้บ่งอันตรายและการประเมินความเสี่ยง

(4) แผนงานบริหารจัดการความเสี่ยง

ทั้งนี้ ตัวอย่างรายการสิ่งที่เป็นความเสี่ยงและอันตรายตาม (2) และแผนงานบริหารจัดการความเสี่ยงตาม (4) เป็นไปตามแบบแนบท้ายประกาศนี้

ข้อ 3 รายการสิ่งที่เป็นความเสี่ยงและอันตรายตามข้อ 2 (2) ต้องครอบคลุมหัวข้ออย่างน้อย ดังต่อไปนี้

(1) อันตรายจากการดำเนินงานซึ่งมีลักษณะอาจก่อให้เกิดประกายไฟ ไฟไหม้ หรือการระเบิดได้

(2) อันตรายที่อาจเกิดจาก การรับจ่าย การจัดเก็บ การบรรจุ การขนส่ง การบำรุงรักษา และการทดสอบและตรวจสอบภาชนะบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว ระบบท่อและอุปกรณ์ การตรวจวัดปริมาณก๊าซปิโตรเลียมเหลว และกระบวนการอื่นที่เกี่ยวข้อง

(3) อันตรายที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจากลักษณะและสภาพแวดล้อมการทำงาน

(4) อันตรายที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ข้อ 4 วิธีการชี้บ่งอันตรายและการประเมินความเสี่ยงตามข้อ 2 (3) ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

(1) การชี้บ่งอันตรายให้ใช้วิธีการใดวิธีการหนึ่งหรือหลายวิธีร่วมกัน ดังต่อไปนี้

(ก) Checklist เป็นวิธีที่ใช้ในการชี้บ่งอันตรายโดยการนำแบบตรวจไปใช้ในการตรวจสอบการดำเนินงานในโรงบรรจุเพื่อค้นหาอันตราย แบบตรวจประกอบด้วยหัวข้อคำถามที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบว่าได้ปฏิบัติตามมาตรฐานการออกแบบ มาตรฐานการปฏิบัติงานหรือกฎหมาย เพื่อนำผลจากการตรวจสอบมาทำการชี้บ่งอันตราย

(ข) What If Analysis เป็นกระบวนการใบการศึกษา วิเคราะห์ และทบทวนเพื่อชี้บ่งอันตรายในการดำเนินงานต่าง ๆ ในโรงบรรจุ โดยการใช้คำถาม “จะเกิดอะไรขึ้น....ถ้า....” และหาคำตอบในคำถามเหล่านั้นเพื่อชี้บ่งอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในการดำเนินงาน

(ค) Failure Modes and Effects Analysis เป็นเทคนิคการชี้บ่งอันตรายที่ใช้การวิเคราะห์ในรูปแบบความล้มเหลวและผลที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นการตรวจสอบชิ้นส่วนถังเก็บและจ่ายก๊าซปิดตรเลียมเหลว ระบบท่อและอุปกรณ์ในแต่ละส่วนของระบบ แล้วนำมาวิเคราะห์หาผลที่จะเกิดขึ้นเมื่อเกิดความล้มเหลวของถังเก็บและจ่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลว ระบบท่อและอุปกรณ์

(ง) Event Tree Analysis เป็นเทคนิคการชี้บ่งอันตรายเพื่อวิเคราะห์และประเมินหาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องเมื่อเกิดเหตุการณ์แรกขึ้น ซึ่งเป็นการคิดเพื่อคาดการณ์ล่วงหน้าเพื่อวิเคราะห์หาผลสืบเนื่องที่จะเกิดขึ้น เมื่อถังเก็บและจ่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลว ระบบท่อและอุปกรณ์เสียหายหรือคนทำงานผิดพลาด เพื่อให้ทราบสาเหตุว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร และมีโอกาสที่จะเกิดมากน้อยเพียงใด รวมทั้งเป็นการตรวจสอบว่าระบบความปลอดภัยที่มีอยู่มีปัญหาหรือไม่อย่างไร

(จ) Hazard and Operability Study (HAZOP) เป็นเทคนิคการศึกษา วิเคราะห์ และทบทวนเพื่อชี้บ่งอันตรายและค้นหาปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินงานในโรงบรรจุ โดยการวิเคราะห์หาอันตราย และปัญหาของระบบต่าง ๆ ซึ่งอาจจะเกิดจากความไม่สมบูรณ์ในการออกแบบที่เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจด้วยการตั้งคำถามที่สมมติสถานการณ์ของการประกอบกิจการในภาวะต่าง ๆ เพื่อนำมาชี้บ่งอันตรายหรือค้นหาปัญหาซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุหรืออุบัติภัยร้ายแรงขึ้นได้

(ฉ) Fault Tree Analysis เป็นเทคนิคการชี้บ่งอันตรายที่เน้นถึงอุบัติเหตุหรืออุบัติภัยร้ายแรงที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้น เพื่อนำไปวิเคราะห์หาสาเหตุของการเกิดเหตุ ซึ่งเป็นเทคนิคในการคิดย้อนกลับที่อาศัยหลักการทางตรรกวิทยาในการใช้หลักการเหตุและผล เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุหรืออุบัติภัยร้ายแรง โดยเริ่มวิเคราะห์จากอุบัติเหตุหรืออุบัติภัยร้ายแรงที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้นเพื่อหาเหตุการณ์แรกที่เกิดขึ้นก่อน แล้วนำมาแจกแจงขั้นตอนการเกิดเหตุการณ์แรกว่ามาจากเหตุการณ์ย่อยอะไรได้บ้าง และเหตุการณ์ย่อยเหล่านั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร การสิ้นสุดการวิเคราะห์เมื่อพบว่าสาเหตุของการเกิดเหตุการณ์ย่อยเป็นผลเนื่องจากความบกพร่องของถังเก็บและจ่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลว ระบบท่อและอุปกรณ์ หรือความผิดพลาดจากการปฏิบัติงาน

(2) การประเมินความเสี่ยงให้ดำเนินการตามขั้นตอน ดังต่อไปนี้

(ก) ประเมินโอกาสการเกิดอันตรายจากรายการสิ่งที่เป็นความเสี่ยงและอันตรายที่อาจส่งผลกระทบต่อบุคคล ชุมชน ทรัพย์สิน หรือสิ่งแวดล้อม

(ข) พิจารณาถึงความรุนแรงของเหตุการณ์ต่าง ๆ ว่าจะก่อให้เกิดถึงผลกระทบที่อาจเกิดต่อบุคคล ชุมชน ทรัพย์สิน หรือสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด

(ค) จัดระดับความเสี่ยง โดยพิจารณาถึงผลลัพธ์ของระดับโอกาสกับระดับความรุนแรงที่มีผลกระทบต่อบุคคล ชุมชน ทรัพย์สิน หรือสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ตัวอย่างแบบการชี้บ่งอันตรายตาม (1) และการประเมินความเสี่ยงตาม (2) เป็นไปตามแบบแนบท้ายประกาศนี้

ข้อ 5 โรงบรรจุต้องจัดทำแผนงานบริหารจัดการความเสี่ยงโดยกำหนดมาตรการการป้องกัน ควบคุมและระงับอันตราย

ข้อ 6 โรงบรรจุที่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงวิศวกรรมของสถานประกอบการ ต้องจัดส่งรายงานการประเมินความเสี่ยงเพื่อประกอบการยื่นคำขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงการประกอบกิจการด้วย

ในกรณีที่โรงบรรจุมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลรายละเอียดการประกอบกิจการตามข้อ 2 (1) เฉพาะกณีที่ไม่ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงเชิงวิศวกรรม ต้องจัดทำรายงานการประเมินความเสี่ยง เก็บรักษาไว้เพื่อให้กรมธุรกิจพลังงานสามารถเรียกตรวจสอบได้

ข้อ 7 โรงบรรจุ ที่ได้รับใบอนุญาตอยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับให้จัดทำรายงานการประเมินความเสี่ยงและจัดส่งให้ผู้อนุญาตภายในสองร้อยเจ็ดสิบวันนับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ...(3 พฤศจิกายน 2567)

  

                                               ประกาศ ณ วันที่ 18 ธันวาคม 2566
                                                         พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
                                                 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

 

เล่ม 141 ตอนพิเศษ 7 ง ราชกิจจานุเบกษา 8 มกราคม 2567

 




กฎหมาย




Copyright © 2012 All Rights Reserved.


  

 

สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร | THE BUILDING INSPECTORS ASSOCIATION
เลขที่ 487 ซ.รามคำแหง 39 (เทพลีลา 1) ถ.รามคำแหง
แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ 10310
โทรศัพท์: 0-2184-4612   โทรสาร: 0-2184-4613
http://www.bsa.or.th