ReadyPlanet.com
dot
ฐานข้อมูลกรมโยธาธิการและผังเมือง
กฎหมายเกี่ยวกับตรวจสอบอาคาร
ศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถตามมาตรา ๒๖/๔ (๒) สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร




กฎกระทรวงว่าด้วยการควบคุมเครื่องเล่น พ.ศ. ๒๕๕๘
วันที่ 26/12/2023   13:37:08

 

กฎกระทรวง
ว่าด้วยการควบคุมเครื่องเล่น
พ.ศ. 2558
-----------------------

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และมาตรา 8 (11) และ (12) มาตรา 8 ทวิ และมาตรา 32 (2) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2543 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ในกฎกระทรวงนี้

“เครื่องเล่น” หมายความว่า สิ่งที่ก่อสร้างขึ้นสำหรับให้บุคคลใช้เล่นในสวนสนุกหรือในสถานที่อื่นใดในลักษณะเดียวกัน โดยมีส่วนประกอบของโครงสร้างประธานและโครงสร้างประกอบและมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(1) มีการเคลื่อนที่ที่ทำให้ผู้เล่นเครื่องเล่นเคลื่อนที่ได้โดยมีความเร็วไม่น้อยกว่า 5 เมตรต่อวินาที

(2) มีความสูงจากระดับพื้นที่ตั้งของเครื่องเล่นถึงระดับพื้นที่สูงที่สุดที่ผู้เล่นเครื่องเล่นขึ้นไป เพื่อเล่นเครื่องเล่นไม่น้อยกว่า 2.50 เมตร

(3) มีขนาดกำลังของเครื่องกลไม่น้อยกว่า 15 แรงม้า (11 กิโลวัตต์)

(4) มีส่วนที่ต้องใช้น้ำในการเล่นเครื่องเล่นโดยมีความลึกของระดับน้ำไม่น้อยกว่า 0.80 เมตร

“ก่อสร้าง” หมายความว่า การสร้างเครื่องเล่นขึ้นใหม่ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการสร้างขึ้นแทนของเดิมหรือไม่ และให้หมายความรวมถึงการติดตั้งหรือการดัดแปลงเครื่องเล่นที่มีอยู่แล้วให้ผิดไปจากเดิม

“โครงสร้างประธาน” หมายความว่า โครงสร้างที่ต้องมีการออกแบบและคำนวณ เพื่อใช้รองรับหรือติดตั้งเครื่องเล่น เช่น พื้น คาน เสา ตอม่อ ฐานราก หรือเสาเข็ม

“โครงสร้างประกอบ” หมายความว่า โครงสร้างส่วนที่จะใช้ประกอบและติดตั้งให้เข้ากับโครงสร้างประธาน โดยเมื่อประกอบและติดตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้วสามารถรองรับเครื่องเล่นให้มีความมั่นคงแข็งแรงตามที่ได้ออกแบบคำนวณไว้จากโรงงานผู้ผลิตเครื่องเล่น

“เขตบริเวณประกอบกิจการ” หมายความว่า พื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของเครื่องเล่นและอุปกรณ์ รวมทั้งบริเวณที่เป็นส่วนประกอบในการให้บริการเครื่องเล่นแต่ละเครื่อง เช่น ห้องเครื่อง ห้องควบคุม ห้องพักรอ หรือทางเข้าออก

“ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตก่อสร้าง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายเครื่องเล่น

“ใบรับรอง” หมายความว่า ใบรับรองให้ใช้เครื่องเล่น

“วิศวกร” หมายความว่า วิศวกรโยธา วิศวกรไฟฟ้า หรือวิศวกรเครื่องกล แล้วแต่กรณี ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบงานออกแบบและคำนวณ งานควบคุมการก่อสร้างหรือการผลิต งานอำนวยการใช้ หรืองานพิจารณาตรวจสอบ และได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร

หมวด 1
การก่อสร้าง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายเครื่องเล่น
-----------------------

ข้อ 2 ให้เครื่องเล่นเป็นอาคารควบคุมการใช้ตามมาตรา 32 (2)

ข้อ 3 ผู้ใดจะก่อสร้าง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายเครื่องเล่นต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น โดยให้ยื่นคำขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามแบบ ขค. 1 พร้อมด้วยเอกสารหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบดังกล่าว

การยื่นคำขออนุญาตตามวรรคหนึ่งจะต้องยื่นคู่มือการติดตั้งเครื่องเล่นของผู้ผลิตเครื่องเล่น คู่มือการใช้เครื่องเล่น คู่มือการตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องเล่น และคู่มือปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินที่จัดทำเป็นภาษาไทย รวมทั้งแผนผังเขตบริเวณประกอบกิจการ แบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน และรายการคำนวณตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2528) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522

ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจพิจารณา และออกใบอนุญาตหรือมีหนังสือแจ้งคำสั่งไม่อนุญาตพร้อมด้วยเหตุผลให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 25

ใบอนุญาตให้เป็นไปตามแบบ อค. 1 และให้มีอายุไม่เกินสองปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต

ข้อ 4 ในกรณีที่การก่อสร้าง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายเครื่องเล่นจะต้องมีการก่อสร้าง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารที่ใช้เป็นส่วนหนึ่งของการเล่นเครื่องเล่น ให้ผู้ขอรับใบอนุญาตดำเนินการขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามแบบ ขค. 1 พร้อมด้วยเอกสารหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบดังกล่าว และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงเกี่ยวกับการก่อสร้าง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร

ข้อ 5 การก่อสร้าง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายเครื่องเล่นต้องดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนและข้อปฏิบัติที่กำหนดไว้ในคู่มือการติดตั้งเครื่องเล่นของผู้ผลิตเครื่องเล่น ซึ่งต้องเป็นไปโดยถูกต้องตามรูป แบบ และข้อกำหนดของหลักวิชาชีพวิศวกรรม

ข้อ 6 การออกแบบและควบคุมการก่อสร้างโครงสร้างประธานและโครงสร้างประกอบของเครื่องเล่น ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานการรับน้ำหนัก เช่น ความจุจำนวนคน ความเร็วที่ออกแบบ น้ำหนักบรรทุกจร และดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนและข้อปฏิบัติอื่นที่กำหนดไว้ในคู่มือการติดตั้งเครื่องเล่นของผู้ผลิตเครื่องเล่น ซึ่งต้องเป็นไปโดยถูกต้องตามรูป แบบ และข้อกำหนดของหลักวิชาชีพวิศวกรรม

ข้อ 7 วัสดุหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างเครื่องเล่นต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

(1) วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างโครงสร้างประธานและโครงสร้างประกอบที่เกี่ยวกับการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทน หรือความปลอดภัย ต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในคู่มือการออกแบบเครื่องเล่น หากคู่มือดังกล่าวมิได้กำหนดต้องมีลักษณะตามที่กำหนดในแบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน และรายการคำนวณของวิศวกร หรือตามที่กำหนดไว้ในคู่มือการติดตั้งเครื่องเล่นของผู้ผลิตเครื่องเล่น

โครงสร้างประธานและโครงสร้างประกอบตามวรรคหนึ่งต้องทำด้วยวัสดุที่มีการป้องกันการติดไฟ

(2) วัสดุ ชิ้นส่วน อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลที่ใช้ในระบบการทำงานต่าง ๆ ของเครื่องเล่นต้องได้มาตรฐานทางวิศวกรรมหรือตามที่กำหนดไว้ในคู่มือการติดตั้งเครื่องเล่นของผู้ผลิตเครื่องเล่น

ข้อ 8 ผู้ควบคุมงานสำหรับการก่อสร้าง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายโครงสร้างประธานและโครงสร้างประกอบของเครื่องเล่นต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

(1) การก่อสร้าง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายที่เข้าข่ายเป็นงานวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร ผู้ควบคุมงานต้องเป็นวิศวกรตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร

(2) การก่อสร้าง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายที่ไม่เข้าข่ายเป็นงานวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร ผู้ควบคุมงานต้องเป็นผู้ได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง แผนกวิชาช่างก่อสร้าง แผนกวิชาช่างโยธา แผนกวิชาช่างกล หรือแผนกวิชาช่างไฟฟ้า แล้วแต่กรณี และมีประสบการณ์ในการทำงานในสาขาดังกล่าวไม่น้อยกว่าสามปี

ข้อ 9 ให้นำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการก่อสร้าง รื้อถอน และเคลื่อนย้ายอาคารตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาใช้บังคับแก่การก่อสร้าง รื้อถอน และเคลื่อนย้ายเครื่องเล่นโดยอนุโลม

ข้อ 10 เมื่อผู้รับใบอนุญาตได้ก่อสร้างหรือเคลื่อนย้ายเครื่องเล่นแล้วเสร็จ และประสงค์จะใช้เครื่องเล่นดังกล่าว ให้แจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบ ตามแบบ ขค. 2 พร้อมด้วยเอกสารหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบดังกล่าว

การแจ้งตามวรรคหนึ่ง ผู้รับใบอนุญาตจะต้องยื่นรายงานผลการพิจารณาตรวจสอบตามคู่มือการติดตั้งเครื่องเล่นของผู้ผลิตเครื่องเล่นโดยมีวิศวกรเป็นผู้ลงนามตรวจสอบ พร้อมทั้งหลักฐานการจัดให้มีการประกันภัยเพื่อประกันความรับผิดต่อบุคคลภายนอก กรณีเสียชีวิตไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนบาทต่อคน ค่ารักษาพยาบาลไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนบาทต่อคน รวมกันแล้วไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านบาทต่อครั้ง และคุ้มครองทรัพย์สินบุคคลภายนอกไม่ต่ำกว่าสองแสนบาทต่อครั้ง

ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทำการตรวจสอบการก่อสร้างหรือเคลื่อนย้ายเครื่องเล่นให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งและเอกสารหลักฐานครบถ้วนและถูกต้อง

ข้อ 11 ในกรณีที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจสอบแล้วเห็นว่าการก่อสร้าง หรือเคลื่อนย้ายเครื่องเล่นเป็นไปโดยถูกต้องตามที่ได้รับอนุญาต และมีผลการพิจารณาตรวจสอบ พร้อมทั้งจัดให้มีการประกันภัยตามข้อ 10 วรรคสอง ให้ออกใบรับรองตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 32 วรรคสี่ ตามแบบ อค. 2 รวมทั้งขึ้นทะเบียนเครื่องเล่นทุกเครื่อง และแสดงหมายเลขทะเบียน วันที่ออกใบรับรองและวันหมดอายุของใบรับรองไว้ที่เครื่องเล่นแต่ละเครื่องในตำแหน่งที่เห็นได้ชัดเจน โดยใช้ขนาดตัวอักษรที่มีความสูงไม่น้อยกว่า 10 มิลลิเมตร

ใบรับรองให้มีอายุหนึ่งปีนับแต่วันที่ออกใบรับรอง

ข้อ 12 ผู้รับใบรับรองผู้ใดประสงค์จะใช้เครื่องเล่นหลังจากใบรับรองหมดอายุให้ยื่นคำขอใบรับรองต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อนใบรับรองสิ้นอายุสามสิบวัน ตามแบบ ขค. 3 พร้อมด้วยเอกสารหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอดังกล่าว

การยื่นคำขอใบรับรองตามวรรคหนึ่งต้องยื่นรายงานผลการพิจารณาตรวจสอบสภาพของเครื่องเล่นว่าอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้อย่างปลอดภัยโดยมีวิศวกรเป็นผู้ลงนามตรวจสอบ พร้อมทั้งจัดให้มีการประกันภัยตามข้อ 10 วรรคสอง

ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นพิจารณาคำขอใบรับรองให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับคำขอและเอกสารหลักฐานครบถ้วนและถูกต้อง

ข้อ 13 ผู้ใดก่อสร้าง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายเครื่องเล่นโดยมิได้รับอนุญาตหรือมิได้ปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นดำเนินการตามมาตรา 40

ผู้ใดใช้เครื่องเล่นโดยมิได้รับใบรับรอง หรือใช้เครื่องเล่นในขณะที่ใบรับรองหมดอายุ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นดำเนินการตามมาตรา 44

ในกรณีที่เครื่องเล่นซึ่งก่อสร้างหรือเคลื่อนย้ายโดยได้รับอนุญาตตามกฎกระทรวงนี้ มีสภาพหรือมีการใช้ที่อาจเป็นภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน หรืออาจไม่ปลอดภัยจากอัคคีภัย หรือก่อให้เกิดเหตุรำคาญ หรือกระทบกระเทือนต่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นดำเนินการตามมาตรา 46

ข้อ 14 ในกรณีที่ใบอนุญาตหรือใบรับรองสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดในสาระสำคัญ ให้ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้รับใบรับรองยื่นคำขอรับใบแทนต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบถึงการสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุด ตามแบบ ขค. 4 พร้อมด้วยเอกสารหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอดังกล่าว

ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นพิจารณาคำขอรับใบแทนใบอนุญาตหรือใบรับรองให้แล้วเสร็จภายในห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอและเอกสารหลักฐานครบถ้วนและถูกต้อง

ใบแทนใบอนุญาตหรือใบรับรอง ให้ใช้แบบใบอนุญาตหรือใบรับรองโดยประทับตราสีแดงคำว่า “ใบแทน” กำกับไว้ด้วย และให้มีวัน เดือน ปี ที่ออกใบแทนพร้อมทั้งลงลายมือชื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น

ข้อ 15 ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้รับใบรับรองผู้ใดประสงค์จะโอนใบอนุญาตหรือใบรับรอง ให้ยื่นคำขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามแบบ ขค. 5 พร้อมด้วยเอกสารหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอดังกล่าว

การโอนใบรับรองตามวรรคหนึ่ง ผู้รับโอนใบรับรองต้องยื่นกรมธรรม์ประกันภัยตามข้อ 10 วรรคสองมาเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย

ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นพิจารณาคำขอโอนใบอนุญาตหรือใบรับรองให้แล้วเสร็จภายในห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอและเอกสารหลักฐานครบถ้วนและถูกต้อง

ในกรณีที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นอนุญาตให้โอนใบอนุญาตหรือใบรับรอง ให้ประทับตราสีแดงคำว่า “โอนแล้ว” ระบุชื่อผู้รับโอนและให้มีวัน เดือน ปี ที่อนุญาตให้โอนใบอนุญาตหรือใบรับรองกำกับไว้ในใบอนุญาตหรือใบรับรอง พร้อมทั้งลงลายมือชื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น

ข้อ 16 ผู้ใดมีความประสงค์จะก่อสร้างและใช้เครื่องเล่นที่มีกำหนดระยะเวลาใช้ไม่เกินสิบห้าวัน โดยไม่ต้องปฏิบัติตามข้อ 3 และข้อ 10 วรรคหนึ่งและวรรคสาม ให้แจ้งเป็นหนังสือต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามแบบ ขค. 6 พร้อมด้วยเอกสารหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบดังกล่าว โดยต้องแจ้งข้อมูลและยื่นเอกสารหลักฐาน ดังต่อไปนี้

(1) รายงานผลการพิจารณาตรวจสอบสภาพของเครื่องเล่นว่าอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้อย่างปลอดภัย โดยมีผู้ควบคุมงานสำหรับการก่อสร้างตามข้อ 8 เป็นผู้ลงนามตรวจสอบ

(2) สำเนาใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกรของผู้ควบคุมงานสำหรับการก่อสร้างตาม (1)

(3) กรมธรรม์ประกันภัยเพื่อประกันความรับผิดต่อบุคคลภายนอกตามข้อ 10 วรรคสอง

(4) แผนผังบริเวณแสดงตำแหน่งที่ตั้งของเครื่องเล่นทุกเครื่อง

(5) วันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดของวันที่เปิดใช้

ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นออกใบรับแจ้งตามแบบ อค. 3 ให้แก่ผู้แจ้งภายในวันที่ได้รับแจ้ง และผู้แจ้งได้ดำเนินการตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่งครบถ้วนแล้ว

ผู้แจ้งสามารถใช้เครื่องเล่นตามที่แจ้งไว้ได้ตั้งแต่วันที่ได้ใบรับแจ้ง

หมวด 2
การตรวจสอบ
-----------------------

ข้อ 17 ในระหว่างการเปิดใช้เครื่องเล่น ผู้รับใบรับรองต้องจัดให้มีวิศวกรพิจารณาตรวจสอบและบำรุงรักษาโครงสร้างประธาน โครงสร้างประกอบ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ เครื่องจักรกล และระบบต่าง ๆ ของเครื่องเล่นว่าอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้อย่างปลอดภัยอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง หรือตามที่กำหนดไว้ในคู่มือการติดตั้งเครื่องเล่นและคู่มือการบำรุงรักษาเครื่องเล่นของผู้ผลิตเครื่องเล่นแล้วแต่ระยะเวลาใดสั้นกว่า และบันทึกผลการพิจารณาตรวจสอบและเก็บไว้ ณ ที่ตั้งของเครื่องเล่นนั้นด้วย

ผู้รับใบรับรองต้องจัดให้มีวิศวกรพิจารณาตรวจสอบเครื่องเล่นเป็นประจำทุกปีตามที่กำหนดไว้ในคู่มือการติดตั้งเครื่องเล่นของผู้ผลิตเครื่องเล่น พร้อมทั้งจัดทำรายงานและลงนามในผลการพิจารณาตรวจสอบ

ความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมิให้ใช้บังคับแก่เครื่องเล่นตามข้อ 16

หมวด 3
ระบบความปลอดภัย
-----------------------

ข้อ 18 ผู้รับใบรับรอง เจ้าของ หรือผู้ครอบครองเครื่องเล่น ต้องจัดให้มีมาตรการความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้เครื่องเล่น ดังต่อไปนี้

(1) จัดให้มีระบบความปลอดภัยของเครื่องเล่นตามที่กำหนดไว้ในคู่มือการติดตั้งเครื่องเล่นของผู้ผลิตเครื่องเล่น

(2) จัดให้มีป้ายหรือข้อความแสดงชื่อผู้ควบคุมเครื่องเล่นตามข้อ 23 (2) ในบริเวณที่ผู้เล่นเครื่องเล่นเห็นได้ชัด

(3) จัดให้มีป้ายบอกวิธีใช้หรือคำแนะนำในการใช้หรือข้อห้ามหรือเครื่องหมายเตือนในบริเวณที่ผู้เล่นเครื่องเล่นเห็นได้ชัด

(4) จัดให้มีราวหรือรั้วกั้นเพื่อมิให้ผู้ที่จะเข้าใช้เครื่องเล่นหรือบุคคลในบริเวณนั้นได้รับอันตรายในขณะที่เครื่องเล่นกำลังทำงานอยู่

(5) จัดให้มีป้ายระบุจำนวนคนที่สามารถใช้เครื่องเล่นในแต่ละครั้งในบริเวณที่ผู้เล่นเครื่องเล่นเห็นได้ชัด

ข้อ 19 ผู้รับใบรับรอง เจ้าของ หรือผู้ครอบครองเครื่องเล่นต้องจัดให้มีระบบป้องกันภัยฉุกเฉิน ดังต่อไปนี้

(1) ระบบสัญญาณแจ้งเหตุอัตโนมัติที่สามารถส่งเสียงหรือสัญญาณเมื่อเกิดเหตุผิดปกติเพื่อให้ผู้ควบคุมทราบ

(2) ระบบความปลอดภัยเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น ระบบช่วยการทำงานฉุกเฉิน ระบบหยุดการทำงานของระบบไฟฟ้าและเครื่องกล อุปกรณ์ยึดติดเครื่องเล่นไม่ให้หลุดหรือกระเด็นเมื่อเครื่องเล่นเกิดอุบัติเหตุ เครื่องมือหรืออุปกรณ์สำหรับช่วยเหลือคนจากที่สูง

ข้อ 20 เครื่องเล่นที่ขับเคลื่อนด้วยกำลังของเครื่องยนต์หรือกำลังไฟฟ้า ดังต่อไปนี้

(1) มีความเร็วของการเคลื่อนที่ที่ทำให้ผู้เล่นเครื่องเล่นเคลื่อนที่ได้เกินกว่า 7 เมตรต่อวินาที

(2) มีความสูงจากระดับพื้นที่ตั้งของเครื่องเล่นถึงระดับพื้นที่สูงที่สุดที่ผู้เล่นเครื่องเล่นขึ้นไป เพื่อเล่นเครื่องเล่นเกินกว่า 4 เมตร

(3) มีขนาดกำลังของเครื่องกลเกินกว่า 50 แรงม้า (37 กิโลวัตต์)

(4) มีส่วนที่ต้องใช้น้ำในการเล่นเครื่องเล่นโดยมีความลึกของระดับน้ำเกินกว่า 1.50 เมตร

ผู้รับใบรับรอง เจ้าของ หรือผู้ครอบครองเครื่องเล่นต้องติดตั้งอุปกรณ์ตรวจสอบความเร็วและความสมดุล ที่มีสัญญาณเตือน และมีระบบหยุดการทำงานของเครื่องเล่นไว้ชั่วคราว หากความเร็วและความสมดุลเกินกว่าที่คู่มือการติดตั้งเครื่องเล่นของผู้ผลิตเครื่องเล่นกำหนดหรือเกิดการไม่สมดุล

ข้อ 21 ผู้รับใบรับรอง เจ้าของ หรือผู้ครอบครองเครื่องเล่นต้องจัดให้มีคู่มือการปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินของเครื่องเล่นแต่ละเครื่องตามที่กำหนดไว้ในคู่มือการติดตั้งเครื่องเล่นของผู้ผลิตเครื่องเล่น ซึ่งประกอบด้วยแผนการซ้อมการกู้ภัย การระงับอัคคีภัย การอพยพคน รวมทั้งต้องจัดให้มีการฝึกซ้อมพนักงานให้เหมาะสมตามสภาพเครื่องเล่นแต่ละชนิดอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง และให้ทำรายงานผลการฝึกซ้อมเก็บไว้เพื่อให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นสามารถตรวจสอบได้

ข้อ 22 ผู้รับใบรับรอง เจ้าของ หรือผู้ครอบครองเครื่องเล่นต้องจัดให้มีระบบการป้องกันและระงับอัคคีภัย การอพยพคนเมื่อเกิดอัคคีภัยและการกู้ภัย ให้เหมาะสมตามลักษณะของเครื่องเล่นนั้นเพื่อให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจสอบได้ โดยให้พนักงานดูแลความปลอดภัยประจำเครื่องเล่นตามข้อ 23 (1) และผู้ควบคุมเครื่องเล่นตามข้อ 23 (2) เป็นผู้ช่วยเหลือดำเนินการดังกล่าว

ข้อ 23 ผู้รับใบรับรอง เจ้าของ หรือผู้ครอบครองเครื่องเล่น ต้องจัดให้มี

(1) พนักงานดูแลความปลอดภัยประจำเครื่องเล่น

(2) ผู้ควบคุมเครื่องเล่น

พนักงานดูแลความปลอดภัยประจำเครื่องเล่นตาม (1) และผู้ควบคุมเครื่องเล่นตาม (2) อาจเป็นบุคคลคนเดียวกันก็ได้ โดยต้องมีจำนวนตามที่กำหนดไว้ในคู่มือการติดตั้งเครื่องเล่น ในกรณีที่ไม่มีพนักงานดูแลความปลอดภัยประจำเครื่องเล่นและผู้ควบคุมดังกล่าว ห้ามใช้เครื่องเล่นนั้น

ข้อ 24 พนักงานดูแลความปลอดภัยประจำเครื่องเล่นและผู้ควบคุมเครื่องเล่นต้องเป็นผู้มีวุฒิการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพแผนกวิชาช่างไฟฟ้าหรือแผนกวิชาช่างกลขึ้นไป

ข้อ 25 ในขณะเปิดให้บริการเครื่องเล่น ผู้ควบคุมเครื่องเล่นต้องอยู่ในบริเวณที่สามารถมองเห็นเครื่องเล่นได้โดยรอบหรือมีระบบโทรทัศน์วงจรปิดเพื่อให้ผู้ควบคุมเครื่องเล่นเห็นความเคลื่อนไหวของเครื่องเล่นได้ตลอดเวลา และต้องควบคุมมิให้ผู้เล่นเครื่องเล่นมีจำนวนเกินกว่าความจุของจำนวนคนที่เครื่องเล่นจะรับได้

ข้อ 26 เขตที่ดินที่เป็นที่ตั้งของเครื่องเล่นที่อยู่ภายนอกอาคารต้องมีความกว้างของทางเข้าออกที่เชื่อมกับถนนสาธารณะไม่น้อยกว่า 6 เมตร และถนนสาธารณะต้องมีความกว้างของเขตทางไม่น้อยกว่า 8 เมตร

ข้อ 27 เครื่องเล่นที่ตั้งอยู่ภายนอกอาคารต้องอยู่ห่างจากเขตที่ดินที่เป็นที่ตั้งของเครื่องเล่นในระยะเท่ากับความสูงของเครื่องเล่นนั้น

ในกรณีที่ตั้งอยู่บนดาดฟ้าของอาคาร ห้ามมีส่วนหนึ่งส่วนใดของเครื่องเล่นยื่นหรือล้ำออกมานอกแนวอาคาร

หมวด 4
ค่าธรรมเนียม
-----------------------

ข้อ 28 ให้กำหนดค่าธรรมเนียม ดังต่อไปนี้

(1) ใบอนุญาตก่อสร้าง                                 ฉบับละ   200  บาท

(2) ใบรับรอง                                               ฉบับละ   100  บาท

(3) ใบแทนใบอนุญาตหรือใบแทนใบรับรอง  ฉบับละ     10  บาท

(4) การต่ออายุใบอนุญาตก่อสร้างให้เป็นไปตามอัตราใน (1)

(5) การตรวจแบบแปลนการก่อสร้าง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายเครื่องเล่น ให้คิดค่าธรรมเนียม ดังนี้

(ก) เครื่องเล่นซึ่งสูงไม่เกินสิบห้าเมตร คิดตามพื้นที่เขตบริเวณประกอบกิจการ ตารางเมตรละ 2 บาท

(ข) เครื่องเล่นซึ่งสูงเกินสิบห้าเมตร คิดตามพื้นที่เขตบริเวณประกอบกิจการตารางเมตรละ 4 บาท

บทเฉพาะกาล
-----------------------

ข้อ 29 เจ้าของหรือผู้ครอบครองเครื่องเล่นที่ได้ใช้เครื่องเล่นอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ใช้เครื่องเล่นต่อไปได้ แต่ต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปตามกฎกระทรวงนี้ และเมื่อดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเสร็จแล้วให้แจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามข้อ 10 หรือข้อ 16 แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ

ข้อ 30 ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองเครื่องเล่นตามข้อ 29 ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามข้อ 26 และข้อ 27

 

                                               ให้ไว้ ณ วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2558
                                                      พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา
                                                รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 8 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2543 บัญญัติให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดประเภทหรือลักษณะของสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องเล่นในสวนสนุกหรือสถานที่อื่นใดเพื่อประโยชน์ในลักษณะเดียวกันเป็นอาคาร และกำหนดให้ในการออกกฎกระทรวงต้องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการก่อสร้าง การอนุญาตให้ใช้ การตรวจสอบ มาตรฐานการรับน้ำหนัก ความปลอดภัย คุณสมบัติของวัสดุหรืออุปกรณ์ที่จำเป็นเกี่ยวเนื่องกับเครื่องเล่นด้วย และกำหนดแบบคำขออนุญาต แบบใบอนุญาต และแบบอื่นใดที่จะใช้ในการปฏิบัติตามกฎกระทรวงฉบับนี้ และเพื่อให้การใช้เครื่องเล่นมีความปลอดภัยต่อประชาชนจึงได้กำหนดให้เครื่องเล่นเป็นอาคารควบคุมการใช้เพื่อให้มีการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความปลอดภัยทุกปี รวมทั้งกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับการดำเนินการที่เกี่ยวกับการขออนุญาตก่อสร้างและใช้เครื่องเล่น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

 

เล่ม 132 ตอนที่ 33 ก ราชกิจจานุเบกษา 24 เมษายน 2558

 




กฎหมาย




Copyright © 2012 All Rights Reserved.


  

 

สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร | THE BUILDING INSPECTORS ASSOCIATION
เลขที่ 487 ซ.รามคำแหง 39 (เทพลีลา 1) ถ.รามคำแหง
แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ 10310
โทรศัพท์: 0-2184-4612   โทรสาร: 0-2184-4613
http://www.bsa.or.th