พระราชบัญญัติ
ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน
พ.ศ. 2545
-----------------------
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2545
เป็นปีที่ 57 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานใช้บังคับแทนกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกอาชีพ
พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 31 และมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545”
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกอาชีพ พ.ศ. 2537
มาตรา 4 พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่กระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานของรัฐและองค์การของรัฐ
มาตรา 5 ในพระราชบัญญัตินี้
“การพัฒนาฝีมือแรงงาน” หมายความว่า กระบวนการที่ทําให้ผู้รับการฝึกและประชากรวัยทํางานมีความสามารถในการพัฒนาปรับปรุงงาน มีฝีมือ ความรู้ความสามารถ จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ และทัศนคติเกี่ยวกับการทํางานเพื่อพัฒนาเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ อันได้แก่ การฝึกอบรมฝีมือแรงงาน การกําหนดมาตรฐานฝีมือแรงงาน การรับรองความรู้ความสามารถ และการอื่นที่เกี่ยวข้อง
คำนิยาม “การพัฒนาฝีมือแรงงาน” แก้ไขโดย พรบ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557
“การฝึกอบรมฝีมือแรงงาน” หมายความว่า การฝึกเตรียมเข้าทำงาน การฝึกยกระดับฝีมือแรงงานและการฝึกเปลี่ยนสาขาอาชีพ
“การฝึกเตรียมเข้าทำงาน” หมายความว่า การฝึกอบรมฝีมือแรงงานก่อนเข้าทำงาน เพื่อให้สามารถทำงานได้ตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน
“การฝึกยกระดับฝีมือแรงงาน” หมายความว่า การที่ผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นนายจ้างจัดให้ลูกจ้างได้ฝึกอบรมฝีมือแรงงานเพิ่มเติมในสาขาอาชีพที่ลูกจ้างปฏิบัติงานอยู่ตามปกติ เพื่อให้ลูกจ้างได้มีความรู้ความสามารถและทักษะในสาขาอาชีพนั้นสูงขึ้น
“การฝึกเปลี่ยนสาขาอาชีพ” หมายความว่า การที่ผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นนายจ้างจัดให้ลูกจ้างได้ฝึกอบรมฝีมือแรงงานเพิ่มเติมในสาขาอาชีพอื่นที่ลูกจ้างมิได้ปฏิบัติงานอยู่ตามปกติ เพื่อให้ลูกจ้างได้มีความรู้ความสามารถที่จะทำงานในสาขาอาชีพอื่นนั้นได้ด้วย
“หลักสูตร” หมายความว่า หัวข้อวิชา เนื้อหา และวิธีการดำเนินการฝึกอบรมฝีมือแรงงาน
“ผู้ดำเนินการฝึก” หมายความว่า ผู้ซึ่งจัดให้มีการฝึกอบรมฝีมือแรงงานตามหลักสูตรและรายละเอียดเกี่ยวกับการฝึกอบรมฝีมือแรงงานที่นายทะเบียนได้พิจารณาให้ความเห็นชอบตามพระราชบัญญัตินี้
“ผู้รับการฝึก” หมายความว่า ผู้ซึ่งเข้ารับการฝึกอบรมฝีมือแรงงานจากผู้ดำเนินการฝึก
“ครูฝึก” หมายความว่า ผู้ซึ่งทำหน้าที่ฝึกอบรมฝีมือแรงงานให้แก่ผู้รับการฝึก
“สถานที่ฝึก” หมายความว่า สถานที่ที่ผู้ดำเนินการฝึกจัดให้มีการฝึกอบรมฝีมือแรงงานให้แก่ผู้รับการฝึก
“ศูนย์ฝึกอบรมฝีมือแรงงาน” หมายความว่า สถานที่ฝึกที่ได้จัดไว้เป็นสัดส่วนแยกจากหน่วยประกอบกิจการ
“มาตรฐานฝีมือแรงงาน” หมายความว่า ข้อกำหนดทางวิชาการที่ใช้เป็นเกณฑ์วัดระดับฝีมือ ความรู้ความสามารถ และทัศนคติในการทำงานของผู้ประกอบอาชีพในสาขาต่างๆ ตามพระราชบัญญัตินี้
“การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน” หมายความว่า การทดสอบฝีมือ ความรู้ ความสามารถและทัศนคติในการทำงานของผู้ประกอบอาชีพตามเกณฑ์กำหนดของมาตรฐานฝีมือแรงงาน
“ผู้ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน” หมายความว่า ผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานตามพระราชบัญญัตินี้
“ผู้ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน” หมายความว่า ผู้ทำหน้าที่ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานให้แก่ผู้เข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน
“สมุดประจําตัว” หมายความว่า เอกสารหรือสิ่งอื่นใดที่ใช้ในการบันทึกประวัติของบุคคล ในส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษา การฝึกอบรม การสัมมนา การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน การประกอบอาชีพ การทํางานที่ผ่านมา หรือกรณีอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกําหนด เพื่อประโยชน์ในการประกอบอาชีพหรือการจ้างงาน
“การประเมิน” หมายความว่า การพิจารณาและวัดค่าทักษะฝีมือ ความรู้ความสามารถ คุณลักษณะส่วนบุคคล และประสบการณ์หรือความสําเร็จในการประกอบอาชีพในระดับต่าง ๆ ตามที่ คณะกรรมการประกาศกําหนด
“ผู้ประเมิน” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนให้ทําหน้าที่ประเมินผู้ขอหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ
“การรับรองความรู้ความสามารถ” หมายความว่า การรับรองความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพของบุคคลที่ผ่านการประเมินในแต่ละระดับตามที่คณะกรรมการประกาศกําหนด
“หนังสือรับรองความรู้ความสามารถ” หมายความว่า หนังสือที่ออกให้แก่บุคคลที่ผ่านการรับรองความรู้ความสามารถ
“องค์กรอาชีพ” หมายความว่า กลุ่มบุคคลหรือสถาบันที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการประกอบอาชีพซึ่งคณะกรรมการได้รับรองให้มีสิทธิและหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกําหนด และให้หมายความรวมถึงองค์กรวิชาชีพตามกฎหมายอื่นด้วย
คำนิยาม “สมุดประจําตัว” “การประเมิน” “ผู้ประเมิน” “การรับรอง ความรู้ความสามารถ” “หนังสือรับรองความรู้ความสามารถ” และ “องค์กรอาชีพ” เพิ่มเติมโดย พรบ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557
“ผู้ประกอบกิจการ” หมายความว่า ผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรม พาณิชยกรรมหรือธุรกิจอย่างอื่น ทั้งที่เป็นนายจ้างและมิใช่นายจ้างของผู้รับการฝึก
“นายจ้าง” หมายความว่า นายจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน
“ลูกจ้าง” หมายความว่า ลูกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน
“กองทุน” หมายความว่า กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน
“กรรมการ” หมายความว่า กรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
“นายทะเบียน” หมายความว่า อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย
“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 6 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอํานาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ออกกฎกระทรวงกําหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ ยกเว้นค่าธรรมเนียม และกําหนดกิจการอื่น ตลอดจนออกระเบียบและประกาศ เพื่อปฏิบัติการตาม พระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
มาตรา 6 แก้ไขโดย พรบ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557
มาตรา 7 ให้รัฐมนตรีมีอํานาจประกาศ
(1) กําหนดสาขาอาชีพที่จะส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน
(2) กําหนดสาขาอาชีพ ตําแหน่งงาน หรือลักษณะงาน ที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะหรือต้องใช้ผู้มีความรู้ความสามารถซึ่งต้องดําเนินการโดยผู้ได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ ทั้งนี้ ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เว้นแต่สาขาอาชีพ ตําแหน่งงาน หรือลักษณะงานใดที่มีองค์กรตามกฎหมายควบคุมแล้ว ให้อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการนั้น
มาตรา 7 แก้ไขโดย พรบ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557
หมวด 1
การดำเนินการฝึกอบรมฝีมือแรงงาน
-----------------------
ส่วนที่ 1
การฝึกเตรียมเข้าทำงาน
-----------------------
มาตรา 8 เพื่อประโยชน์ในการขอรับสิทธิและประโยชน์ ให้ผู้ซึ่งจัดให้มีการฝึกเตรียมเข้าทำงานตามสาขาอาชีพที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา 7 จัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับการฝึกเสนอต่อนายทะเบียนเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบดังต่อไปนี้
(1) หลักสูตร
(2) สถานที่ฝึกหรือศูนย์ฝึกอบรมฝีมือแรงงาน
(3) ชื่อและคุณสมบัติของครูฝึก
(4) กำหนดระยะเวลาการฝึก
(5) รายการอุปกรณ์อันจำเป็นที่จะใช้ในการฝึกที่มีอยู่แล้วและที่จะต้องหามาเพิ่มเติมในภายหลัง
(6) วิธีการและมาตรฐานในการวัดผลการฝึก
(7) รายการอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
การพิจารณาให้ความเห็นชอบของนายทะเบียนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเกี่ยวกับการฝึกตาม (1) (2) (4) หรือ (6) ที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนแล้วจะกระทำมิได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน
มาตรา 9 คุณสมบัติของครูฝึก ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
มาตรา 10 ผู้ดำเนินการฝึกจะต้องจัดให้มีข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการฝึเป็นภาษาไทยและอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้
(1) ระยะเวลาการฝึก
(2) วันฝึก เวลาฝึก และเวลาพัก
(3) วันหยุด
(4) การลาและหลักเกณฑ์การลา
(5) เบี้ยเลี้ยงระหว่างรับการฝึก
(6) เงื่อนไขการเลิกสัญญาการฝึก
(7) หลักเกณฑ์การจ่ายค่าทดแทนในกรณีผู้รับการฝึกประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันเกิดจากการฝึก
(8) รายการอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
มาตรา 11 ผู้ดำเนินการฝึกจะต้องทำสัญญาการฝึกเป็นหนังสือกับผู้รับการฝึกโดยให้มีรายการตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
มาตรา 12 ผู้ดำเนินการฝึกจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้รับการฝึกตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และต้องจัดทำทะเบียนประวัติผู้รับการฝึกไว้เป็นหลักฐาน
มาตรา 13 เมื่อผู้รับการฝึกผู้ใดฝึกครบตามหลักสูตรและผ่านการวัดผลตามมาตรา 8 (6) แล้วให้ผู้ดำเนินการฝึกออกหนังสือรับรองว่าเป็นผู้สำเร็จการฝึกให้แก่ผู้นั้นภายในสิบห้าวันนับแต่วันเสร็จสิ้นการวัดผล และแจ้งให้นายทะเบียนทราบ
มาตรา 14 เมื่อผู้ดำเนินการฝึกประสงค์จะโอนการประกอบกิจการให้แก่บุคคลอื่น ให้ผู้ดำเนินการฝึกแจ้งเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนถึงวันโอนโดยให้ระบุว่าผู้รับโอนประสงค์จะดำเนินการฝึกเตรียมเข้าทำงานต่อไปหรือไม่ และให้ผู้โอนกับผู้รับโอนลงลายมือชื่อร่วมกัน
ถ้าผู้รับโอนจะดำเนินการฝึกเตรียมเข้าทำงานต่อไป ให้นายทะเบียนจดแจ้งการเปลี่ยนแปลงนั้นไว้ในทะเบียน และให้ถือว่าผู้รับโอนเป็นผู้ดำเนินการฝึกตามมาตรา 8 ตั้งแต่วันโอน และให้สิทธิและหน้าที่ของผู้ดำเนินการฝึกที่มีอยู่ตามสัญญาการฝึกเดิมโอนไปเป็นของผู้รับโอน
ถ้าผู้รับโอนจะไม่ดำเนินการฝึกเตรียมเข้าทำงานต่อไป ให้นายทะเบียนดำเนินการให้ผู้รับการฝึกซึ่งค้างการฝึกอยู่ในวันโอนไปรับกาฝึกในสาขาอาชีพเดียวกันนั้นกับผู้ดำเนินการฝึกรายอื่นหรือในสถานฝึกอาชีพของทางราชการ โดยผู้โอนจะต้องรับผิดชอบสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการฝึกที่ค้างอยู่
มาตรา 15 ห้ามมิให้ผู้ดำเนินการฝึกเรียกหรือรับเงินค่าฝึกอบรมหรือค่าตอบแทนในลักษณะใดๆ อันเกี่ยวกับการฝึกอบรมฝีมือแรงงานจากผู้รับการฝึก
มาตรา 16 ผู้ดำเนินการฝึกจะดำเนินการให้ผู้รับการฝึกไปรับการฝึกอบรมฝีมือแรงงานในสถานศึกษาหรือสถานฝึกอบรมฝีมือแรงงานของทางราชการหรือสถานฝึกอบรมฝีมือแรงงานอื่นที่นายทะเบียนให้ความเห็นชอบก็ได้
หลักสูตรและรายการค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมในสถานศึกษาหรือสถานฝึกอบรมตามวรรคหนึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน
มาตรา 17 ถ้าผู้ดำเนินการฝึกจะเลิกการประกอบกิจการหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นจนไม่สามารถจะดำเนินการฝึกได้อีกต่อไป ให้ผู้ดำเนินการฝึกแจ้งเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนเลิกการประกอบกิจการหรือเลิกการฝึก ในกรณีนี้ ถ้าเป็นการฝึกเตรียมเข้าทำงานให้นำ มาตรา 14 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่ผู้รับการฝึกซึ่งค้างการฝึกอยู่ในวันที่เลิกการประกอบกิจการหรือมีเหตุจำเป็นจนไม่สามารถจะดำเนินการฝึกต่อไปโดยอนุโลมเว้นแต่เมื่อคณะกรรมการเห็นสมควรก็อาจยกเว้นให้ผู้ดำเนินการฝึกไม่ต้องรับผิดชอบสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการฝึกที่ค้างอยู่นั้นได้
มาตรา 18 เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาฝีมือแรงงาน ผู้ดำเนินการฝึกอาจรับนักเรียน นิสิต หรือนักศึกษาที่สถานศึกษาส่งเข้ารับการฝึกตามหลักสูตรของสถานศึกษา หลักสูตรของผู้ดำเนินการฝึกหรือหลักสูตรที่สถานศึกษากับผู้ดำเนินการฝึกได้ร่วมกันจัดทำขึ้นได้ และให้ผู้ดำเนินการฝึกจัดส่งหลักสูตรดังกล่าวไปยังนายทะเบียนก่อนเริ่มดำเนินการฝึก เว้นแต่จะได้เคยจัดส่งหลักสูตรนั้นไปยังนายทะเบียนมาก่อนแล้ว และให้นำความในมาตรา 11 มาตรา 12 มาตรา 13 มาตรา 15 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 35 มาตรา 36 และมาตรา 37 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ความตามวรรคหนึ่ง ให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ทางราชการส่งบุคคลมาฝึกกับผู้ดำเนินการฝึกด้วย
มาตรา 19 การจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมฝีมือแรงงาน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
ส่วนที่ 2
การฝึกยกระดับฝีมือแรงงานและการฝึกเปลี่ยนสาขาอาชีพ
-----------------------
มาตรา 20 เพื่อประโยชน์ในการขอรับสิทธิและประโยชน์ ให้ผู้ซึ่งจัดให้มีการฝึกยกระดับฝีมือแรงงานหรือการฝึกเปลี่ยนสาขาอาชีพจัดส่งหลักสูตร รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง และรายการค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการฝึกเสนอต่อนายทะเบียนเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
การพิจารณาให้ความเห็นชอบของนายทะเบียนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
ในการดำเนินการฝึกตามวรรคหนึ่ง ให้นำมาตรา 15 มาตรา 16 มาตรา 17 และมาตรา 19 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 21 ในระหว่างการฝึกให้ผู้ดำเนินการฝึกซึ่งเป็นนายจ้างยังคงมีหน้าที่ต่อลูกจ้างตามกฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน สัญญาจ้าง ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง
ถ้าการฝึกเกิดจากการร้องขอของลูกจ้างและมีการตกลงกันเป็นหนังสือ นายจ้างอาจจัดให้ลูกจ้างฝึกนอกเวลาทำงานปกติหรือในวันหยุดของลูกจ้างก็ได้ โดยนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างผู้เข้ารับการฝึกไม่น้อยกว่าค่าจ้างในเวลาทำงานปกติตามจำนวนชั่วโมงที่ฝึก
หมวด 2
มาตรฐานฝีมือแรงงาน
-----------------------
มาตรา 22 เพื่อเป็นการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้คณะกรรมการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติในสาขาอาชีพต่างๆ เสนอรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ
มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติที่รัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานนำไปใช้ในการจัดให้มีการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานในสาขาอาชีพนั้นตามมาตรา 23 หรือให้ผู้ดำเนินกา รทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานนำไปใช้ในการดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานในสาขาอาชีพนั้นตามมาตรา 24
คุณสมบัติของผู้เข้ารับการทดสอบ วิธีการทดสอบ และการออกหนังสือรับรองว่าเป็นผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
มาตรา 23 ให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจัดให้มีการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานและส่งเสริมให้มีผู้ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน
มาตรา 24 ผู้ใดประสงค์จะเป็นผู้ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ขออนุญาตต่อนายทะเบียน
การขออนุญาตและการออกใบอนุญาต คุณสมบัติของผู้ทดสอบ การพักใช้ใบอนุญาตและการเพิกถอนใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
มาตรา 25 ในการดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ให้เรียกเก็บค่าทดสอบจากผู้เข้ารับการทดสอบได้ไม่เกินอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
มาตรา 26 ผู้ใดประสงค์จะให้คณะกรรมการรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานของตนให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียน
การขอรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงาน การรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงาน การนำมาตรฐานฝีมือแรงงานที่คณะกรรมการรับรองแล้วไปใช้ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน และการออกหนังสือรับรองให้แก่ผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
หมวด 2/1
การรับรองความรู้ความสามารถ
-----------------------
มาตรา 26/1 บุคคลที่ประสงค์จะมีสมุดประจําตัวหรือจะให้บันทึกข้อมูลเพิ่มเติมในสมุดประจําตัว ให้ยื่นคําขอต่อนายทะเบียน
แบบสมุดประจําตัว การออกสมุดประจําตัว และการบันทึกข้อมูล ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกําหนด
มาตรา 26/2 เมื่อนายทะเบียนได้รับคําขอมีสมุดประจําตัวหรือคําขอให้บันทึกข้อมูลเพิ่มเติมในสมุดประจําตัวตามมาตรา 26/1 แล้ว ให้ตรวจสอบข้อมูลจากเอกสารหรือหลักฐานที่ผู้ยื่นคําขอได้ยื่นไว้หรือขอข้อมูลไปยังหน่วยงานของรัฐ สถานประกอบกิจการ หรือบุคคลที่ทราบข้อมูลดังกล่าว ในกรณีที่นายทะเบียนเชื่อว่าข้อมูลดังกล่าวถูกต้อง ให้บันทึกข้อมูลนั้นไว้ในสมุดประจําตัวของผู้ยื่นคําขอ และมอบสมุดประจําตัวนั้นให้แก่ผู้ยื่นคําขอ
ในกรณีที่ข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมในภายหลังหรือไม่ตรงกับความเป็นจริง ให้นายทะเบียนแก้ไขข้อมูลในสมุดประจําตัวให้ถูกต้องตามความเป็นจริงได้
มาตรา 26/3 ผู้ปฏิบัติงานในสาขาอาชีพ ตําแหน่งงาน หรือลักษณะงานที่รัฐมนตรีประกาศกําหนดตามมาตรา 7 (2) ต้องได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถตามมาตรา 26/10
มาตรา 26/4 ให้มีศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถ ดังต่อไปนี้
(1) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถกลาง
(2) องค์กรอาชีพหรือหน่วยงานของรัฐตามประเภทที่คณะกรรมการประกาศกําหนดที่ได้รับการรับรองจากนายทะเบียนให้เป็นศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถ
มาตรา 26/5 กรมพัฒนาฝีมือแรงงานในฐานะเป็นศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถกลาง มีอํานาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) ส่งเสริม สนับสนุน และจัดให้มีการประเมินและออกหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ
(2) สํารวจ ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย รวบรวม และเก็บรักษาข้อมูลเกี่ยวกับสาขาอาชีพ ตําแหน่งงาน หรือลักษณะงาน ที่มีอยู่ในสถานประกอบกิจการ
(3) ประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ สถานประกอบกิจการของเอกชน หรือองค์กรอาชีพ เพื่อขอรับการสนับสนุนการดําเนินงานตามพระราชบัญญัตินี้
(4) ดําเนินการอื่นตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
มาตรา 26/6 ให้ศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถตามมาตรา 26/4 (2) มีอํานาจหน้าที่ในการจัดให้มีการประเมินและออกหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ
มาตรา 26/7 องค์กรอาชีพหรือหน่วยงานของรัฐที่ประสงค์จะเป็นศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถตามมาตรา 26/4 (2) ให้ยื่นคําขอต่อนายทะเบียน
การยื่นคําขอ การออกหนังสือรับรอง การขอต่ออายุหนังสือรับรอง และการออกใบแทนหนังสือรับรองการเป็นศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 26/8 หนังสือรับรองการเป็นศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถตามมาตรา 26/4 (2) ให้มีอายุสองปีนับแต่วันที่นายทะเบียนออกหนังสือรับรอง
มาตรา 26/9 ศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถต้องแสดงหนังสือรับรองการเป็นศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถไว้ในสถานที่ทําการโดยเปิดเผยและเห็นได้ง่าย
มาตรา 26/10 บุคคลที่ประสงค์จะขอหนังสือรับรองความรู้ความสามารถให้ยื่นคําขอต่อศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถกลางหรือศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถตามมาตรา 26/4 (2)
เมื่อศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถกลางหรือศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถตามมาตรา 26/4 (2) ได้รับคําขอแล้ว ให้ดําเนินการประเมินเพื่อออกหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ
การยื่นคําขอ การประเมิน การออกหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ อายุหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ การออกใบแทนหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกําหนด
มาตรา 26/11 บุคคลที่ประสงค์จะขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประเมิน ให้ยื่นคําขอต่อนายทะเบียน เมื่อนายทะเบียนรับขึ้นทะเบียนแล้วให้ออกหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนพร้อมทั้งบัตรประจําตัวผู้ประเมินแก่บุคคลนั้นได้
คุณสมบัติของผู้ประเมิน การยื่นคําขอขึ้นทะเบียน การออกหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียน อายุหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียน และการออกใบแทนหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียน ให้เป็นไปตาม หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกําหนด
แบบบัตรประจําตัวผู้ประเมิน ให้เป็นไปตามแบบที่คณะกรรมการประกาศกําหนด
ในกรณีที่บัตรประจําตัวผู้ประเมินชํารุดหรือสูญหาย ให้ผู้ประเมินยื่นคําขอรับบัตรประจําตัวผู้ประเมินต่อนายทะเบียน
มาตรา 26/12 ในการปฏิบัติหน้าที่ผู้ประเมินในศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถกลาง ให้ผู้ประเมินได้รับค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายอื่นตามระเบียบที่คณะกรรมการกําหนด
ในกรณีที่ผู้ประเมินเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานและปฏิบัติหน้าที่ในศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถกลาง ให้ได้รับค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายอื่นตามระเบียบที่คณะกรรมการกําหนด โดยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
มาตรา 26/13 ศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถกลางและศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถตามมาตรา 26/4 (2) ที่เป็นหน่วยงานของรัฐอาจเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ขอหนังสือรับรองความรู้ความสามารถได้ตามที่กําหนดในกฎกระทรวง
ศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถตามมาตรา 26/4 (2) ที่เป็นองค์กรอาชีพอาจเรียกเก็บค่าบริการจากผู้ขอหนังสือรับรองความรู้ความสามารถได้ไม่เกินอัตราที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด
มาตรา 26/14 เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้ศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถตามมาตรา 26/4 (2) เก็บรักษาเอกสารและหลักฐานของผู้ยื่นคําขอหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ และผลการพิจารณาของผู้ประเมินไว้ไม่น้อยกว่าสองปี
มาตรา 26/15 ให้ศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถตามมาตรา 26/4 (2) รายงานผลการดําเนินงานให้นายทะเบียนทราบ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกําหนด
หมวด 2/1 เพิ่มเติมโดย พรบ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557
หมวด 3
กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน
-----------------------
มาตรา 27 ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่ง เรียกว่า “กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน” ในกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน
กองทุนประกอบด้วย
(1) เงินที่โอนมาจากเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานที่จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีและดำเนินการบริหารกองทุนตามระเบียบกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมว่าด้วยกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2539
(2) เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้
(3) เงินสมทบที่ผู้ประกอบกิจการส่งเข้ากองทุน
(3/1) ค่าธรรมเนียมหรือค่าทดสอบที่จัดเก็บได้ตามพระราชบัญญัตินี้
ข้อ (3/1) เพิ่มเติมโดย พรบ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557
(4) เงินและหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้กองทุน
(5) ดอกผลหรือผลประโยชน์ที่เกิดจากกองทุน
(6) เงินและหรือทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุนนอกจาก (1) ถึง (5) ที่กองทุนได้รับไม่ว่ากรณีใด
เงินของกองทุนไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการบริหารกองทุน ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
ให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เก็บรักษาเงินกองทุนและดำเนินการเบิกจ่ายเงินกองทุนตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 28 เงินกองทุนให้ใช้จ่ายเพื่อกิจการดังต่อไปนี้
(1) ให้ผู้รับการฝึกกู้ยืมเพื่อใช้จ่ายเกี่ยวกับการเข้ารับการฝึกอบรมฝีมือแรงงานตามพระราชบัญญัตินี้
(2) ให้ผู้ดำเนินการฝึก ผู้ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานและผู้ประกอบกิจการกู้ยืมเพื่อใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำเนินการฝึกอบรมฝีมือแรงงานหรือการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานตามพระราชบัญญัตินี้
(3) ช่วยเหลือหรืออุดหนุนกิจการใดๆ ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
(3/1) ช่วยเหลือหรืออุดหนุนองค์กรอาชีพที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาฝีมือแรงงาน การจําแนกและกําหนดระดับความรู้ความสามารถของผู้ประกอบอาชีพ และการกําหนดช่วงอัตราค่าจ้างที่เหมาะสมกับระดับความรู้ความสามารถของผู้ประกอบอาชีพ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกําหนด
(3/2) ช่วยเหลือหรืออุดหนุนการดําเนินงานของศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถกลางในการรับรองความรู้ความสามารถ ในกรณีที่ศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถตามมาตรา 26/4 (2) มีจํานวนไม่เพียงพอต่อการรับรองความรู้ความสามารถ และช่วยเหลือหรืออุดหนุนการดําเนินงานของศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถตามมาตรา 26/4 (2) ในการรับรองความรู้ความสามารถในสาขาอาชีพ ตําแหน่งงาน หรือลักษณะงาน ซึ่งจําเป็นต้องให้การส่งเสริมหรือสนับสนุน เพื่อให้มีผู้ประกอบอาชีพเพียงพอต่อความต้องการด้านแรงงาน หรือตามที่คณะกรรมการเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาฝีมือแรงงานตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกําหนด
ข้อ (3/1) และ (3/2) เพิ่มเติมโดย พรบ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557
(4) ใช้จ่ายในการบริหารกองทุน
การให้กู้ยืมเงินกองทุน ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
คณะกรรมการอาจจัดสรรเงินกองทุนไม่เกินร้อยละห้าของเงินกองทุนแต่ละปีเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุน
มาตรา 29 ให้รัฐมนตรีโดยคําแนะนําของคณะกรรมการประกาศกําหนดให้ผู้ประกอบกิจการ ซึ่งประกอบกิจการในประเภท ขนาด และท้องที่ใด ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนตามอัตราที่กําหนดไว้ในมาตรา 30
ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการรายใดตามที่กําหนดในวรรคหนึ่งจัดให้มีการฝึกอบรมฝีมือแรงงานให้แก่ลูกจ้างของตนตามที่กําหนดไว้ในหมวด 1 หรือมีลูกจ้างเข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ และผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติตามที่กําหนดไว้ในหมวด 2 หรือมีลูกจ้างผู้ผ่านการรับรองความรู้ความสามารถตามที่กําหนดไว้ในหมวด 2/1 ให้ผู้ประกอบกิจการรายนั้นไม่ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนในปีนั้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกําหนด
มาตรา 29 แก้ไขโดย พรบ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557
มาตรา 30 เพื่อประโยชน์ในการเรียกเก็บเงินสมทบจากผู้ประกอบกิจการตามมาตรา 29 ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศกำหนดอัตราเงินสมทบไม่เกินร้อยละหนึ่งของค่าจ้างที่ผู้ประกอบกิจการจ่ายในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการส่งเงินสมทบรวมทั้งวิธีการเรียกเก็บเงินสมทบจากผู้ประกอบกิจการค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการประกาศกำหนด
มาตรา 31 ผู้ประกอบกิจการรายใดไม่ส่งเงินสมทบภายในเวลาที่กําหนดหรือส่งเงินไม่ครบ ตามอัตราที่กําหนดในมาตรา 29 ต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งจุดห้าต่อเดือนของเงินสมทบที่ยังไม่ได้นําส่งหรือของเงินสมทบที่ยังขาดอยู่ นับแต่วันถัดจากวันที่ต้องนําส่งเงินสมทบ เศษของเดือน ถ้าถึงสิบห้าวันให้นับเป็นหนึ่งเดือน ถ้าน้อยกว่านั้นให้ปัดทิ้ง
ในกรณีที่อธิบดีได้ประเมินเงินสมทบหรือเงินเพิ่ม และได้มีคําสั่งให้ผู้มีหน้าที่ส่งเงินสมทบหรือเงินเพิ่มตามวรรคหนึ่ง ถ้าผู้มีหน้าที่ไม่ยอมชําระเงินดังกล่าว ให้นําบทบัญญัติเกี่ยวกับการบังคับทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้บังคับ
หลักเกณฑ์และวิธีการในการประเมินเงินสมทบหรือเงินเพิ่มตามวรรคสองให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกําหนด
มาตรา 31 แก้ไขโดย พรบ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557
มาตรา 32 ภายในหกเดือนนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณให้คณะกรรมการเสนองบดุลและรายงานการรับจ่ายเงินของกองทุนในปีที่ล่วงมา ซึ่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบรับรองแล้วต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ
งบดุลและรายงานการรับจ่ายเงินดังกล่าว ให้รัฐมนตรีเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อทราบ และจัดให้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา
หมวด 4
สิทธิและประโยชน์
-----------------------
ชื่อหมวด 4 แก้ไขโดย พรบ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557
มาตรา 33 ให้ผู้ดำเนินการฝึกซึ่งจัดให้มีการฝึกอบรมฝีมือแรงงานตามสาขาอาชีพที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา 7 ได้รับสิทธิและประโยชน์ดังต่อไปนี้
(1) สิทธิที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เป็นกรณีพิเศษสำ หรับเงินได้ของผู้ดำเนินการฝึกเป็นจำนวนร้อยละของค่าใช้จ่ายที่ได้ใช้ไปในการจัดให้มีการฝึกอบรมฝีมือแรงงานตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาตามประมวลรัษฎากร
(2) ประโยชน์ที่จะได้รับความช่วยเหลือจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในด้านการฝึกอบรมบุคลากรการฝึกอบรมเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตร การฝึกอบรมการพัฒนาอุปกรณ์ช่วยฝึก การฝึกอบรมผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน การฝึกอบรมหัวหน้างานหรือการฝึกด้านอื่นในลักษณะเดียวกัน
(3) ประโยชน์ที่จะได้รับคำปรึกษาแนะนำจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเกี่ยวกับกระบวนการพัฒนาฝีมือแรงงาน
(4) สิทธิและประโยชน์อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 33/1 ให้ผู้ประกอบกิจการซึ่งจ้างงานผู้ได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถตามจํานวนที่คณะกรรมการประกาศกําหนด ได้รับสิทธิและประโยชน์ ดังต่อไปนี้
(1) สิทธิที่จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้เป็นกรณีพิเศษสําหรับเงินได้ของผู้ประกอบกิจการเป็นจํานวนร้อยละของค่าจ้างผู้ได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถตามมาตรา 26/3 ที่ได้จ่ายในช่วงอัตราค่าจ้างตามมาตรา 39 (5) ทั้งนี้ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาตามประมวลรัษฎากร
(2) ประโยชน์ที่จะได้รับคําปรึกษาแนะนําจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเกี่ยวกับกระบวนการวิเคราะห์ จําแนกตําแหน่งงานหรือการบริหารค่าจ้างและค่าตอบแทน
(3) ประโยชน์ที่จะได้รับการพิจารณาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายที่แสดงให้เห็นว่าเป็นผู้ประกอบกิจการซึ่งจ้างงานผู้ได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ ทั้งนี้ แบบของเครื่องหมาย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอนุญาตและการใช้เครื่องหมาย ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกําหนด
(4) สิทธิและประโยชน์อื่นตามที่กําหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 33/1 เพิ่มเติมโดย พรบ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557
มาตรา 34 นอกเหนือจากสิทธิและประโยชน์ตามมาตรา 33 ให้ผู้ดำเนินการฝึกที่ดำเนินการฝึกอบรมฝีมือแรงงานในศูนย์ฝึกอบรมฝีมือแรงงานที่จัดตั้งขึ้นตามมาตรา 19 ได้รับสิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมดังต่อไปนี้
(1) สิทธิที่จะได้รับยกเว้นอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อใช้ในการฝึกอบรมฝีมือแรงงาน โดยออกเป็นประกาศกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร และตราเป็นพระราชกฤษฎีกาตามประมวลรัษฎากร
ในการนี้ ให้ผู้ขอยกเว้นแสดงรายการเครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ตามที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการเพื่อประกอบการพิจารณา
(2) สิทธิที่จะได้รับการหักค่าไฟฟ้าและค่าประปาเป็นจำนวนสองเท่าของจำนวนเงินที่ผู้ดำเนินการฝึกได้เสียไปเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมฝีมือแรงงานเพื่อประโยชน์ในการคำนวณภาษีเงินได้ ทั้งนี้ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาตามประมวลรัษฎากร
(3) สิทธิและประโยชน์อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 35 คำขอรับสิทธิและประโยชน์ตามมาตรา 33 (2) (3) (4) และมาตรา 34 (3) ให้ยื่นต่อนายทะเบียนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
มาตรา 36 ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ให้ผู้ดำเนินการฝึกนำคนต่างด้าวซึ่งเป็นช่างฝีมือหรือผู้ชำนาญการเพื่อเป็นครูฝึก รวมทั้งคู่สมรสและบุคคลซึ่งอยู่ในอุปการะของช่างฝีมือหรือผู้ชำนาญการ เข้ามาในราชอาณาจักรได้ตามจำนวน เงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาเท่าที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นสมควร แต่ไม่เกินกำหนดระยะเวลาตามที่กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองกำหนดไว้
มาตรา 37 ให้ผู้ดำเนินการฝึกได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน
หมวด 5
คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน
-----------------------
มาตรา 38 ให้มีคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ผู้แทน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้แทนสํานักงบประมาณ ผู้แทนสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย และผู้แทนสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ และกรรมการอื่นจํานวนหกคนซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิสองคน จากผู้แทนองค์กรอาชีพสองคน จากผู้แทนฝ่ายนายจ้างหนึ่งคน และจากผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง อีกหนึ่งคน
ให้อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้คณะกรรมการมีอํานาจแต่งตั้งข้าราชการในกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่ง ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีประสบการณ์ทางด้านการพัฒนาฝีมือแรงงานมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี
กรรมการซึ่งเป็นผู้แทนองค์กรอาชีพ ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดในระเบียบกระทรวงแรงงาน
มาตรา 38 แก้ไขโดย พรบ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557
มาตรา 39 คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีในการกําหนดนโยบาย แผนงาน และมาตรการเกี่ยวกับการพัฒนาฝีมือแรงงาน การรับรองความรู้ความสามารถ และกองทุน
(2) เสนอแนะและให้คําปรึกษาแก่รัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศตามพระราชบัญญัตินี้
(3) ออกระเบียบหรือประกาศตามพระราชบัญญัตินี้
(4) จัดทํามาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติในสาขาอาชีพต่าง ๆ ตามมาตรา 22 ทั้งนี้ ในกรณีที่มาตรฐานฝีมือแรงงานใดมีการกําหนดไว้โดยกฎหมายหรือเป็นมาตรฐานฝีมือแรงงานสากลที่ใช้กันโดยทั่วไปอยู่แล้ว ให้จัดทํามาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติให้เป็นไปในลักษณะเช่นเดียวกันนั้น
(5) จําแนกและกําหนดระดับความรู้ความสามารถของผู้ประกอบอาชีพ และกําหนดช่วงอัตรา ค่าจ้างที่เหมาะสมกับระดับความรู้ความสามารถในแต่ละสาขาอาชีพ เพื่อประโยชน์ในการใช้เป็นแนวทางในการบริหารค่าจ้างและค่าตอบแทนตามความรู้ความสามารถ
(6) กําหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานและการรับรองความรู้ความสามารถ
(7) ส่งเสริมให้ผู้ประกอบกิจการจ้างผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานหรือผู้ผ่านการรับรองความรู้ความสามารถเป็นผู้ปฏิบัติงานในสถานประกอบกิจการ
(8) ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมฝีมือแรงงาน ศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานและศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถตามมาตรา 26/4 (2)
(9) ส่งเสริมให้มีการแข่งขันฝีมือแรงงาน
(10) ส่งเสริมให้มีการประสานงานระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาฝีมือแรงงานและการใช้ทรัพยากรร่วมกัน
(11) ส่งเสริมการดําเนินการประเมินและการรับรองความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพ
(12) ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งองค์กรอาชีพและการมีส่วนร่วมในการดําเนินการตามพระราชบัญญัตินี้
(13) ติดตามผลการพัฒนาฝีมือแรงงาน การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน การรับรองความรู้ความสามารถ และการดําเนินงานของกองทุน
(14) พิจารณาและวินิจฉัยอุทธรณ์คําสั่งของนายทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้
(15) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นบัญญัติให้เป็นอํานาจหน้าที่ของคณะกรรมการ หรือตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย
มาตรา 39 แก้ไขโดย พรบ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557
มาตรา 40 ให้กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งมีวาระการดํารงตําแหน่งคราวละสองปี
เมื่อครบกําหนดตามวาระในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่ ให้กรรมการซึ่งพ้นจากตําแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตําแหน่งเพื่อดําเนินงานต่อไปจนกว่ากรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
กรรมการซึ่งพ้นจากตําแหน่งตามวาระในวรรคหนึ่งอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะแต่งตั้งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้”
มาตรา 40 แก้ไขโดย พรบ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557
มาตรา 41 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 40 กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) รัฐมนตรีให้ออกเพราะบกพร่อง ไม่สุจริตต่อหน้าที่หรือมีความประพฤติเสื่อมเสีย
(4) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(5) เป็นบุคคลล้มละลาย
(6) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
เมื่อกรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ รัฐมนตรีอาจแต่งตั้งผู้อื่นเป็นกรรมการแทนได้ และให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทน
มาตรา 42 การประชุมคณะกรรมการ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
ให้ประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการซึ่งมาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
มาตรา 43 คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการตามที่คณะกรรมการมอบหมายได้
การประชุมคณะอนุกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้นำความในมาตรา 42 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 44 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานทำหน้าที่ เป็นหน่วยงานธุรการของคณะกรรมการ และมีหน้าที่ติดตามให้ผู้ที่ได้รับสิทธิและประโยชน์ ปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้แล้วรายงานให้คณะกรรมการทราบ
หมวด 6
นายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่
-----------------------
มาตรา 45 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ มีอํานาจ ดังต่อไปนี้
(1) มีหนังสือเรียกผู้ดําเนินการฝึก ครูฝึก ผู้รับการฝึก ผู้ดําเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ผู้ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ผู้ประกอบกิจการ ผู้ได้รับหนังสือรับรองการเป็นศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถ ผู้ประเมิน ผู้ขอรับการประเมิน ผู้ปฏิบัติงานในศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคํา หรือออกคําสั่งให้บุคคลดังกล่าวส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาเพื่อประกอบการพิจารณา
(2) เข้าไปในสถานที่ฝึก ศูนย์ฝึกอบรมฝีมือแรงงาน ศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน สถานประกอบกิจการ หรือศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถ ในระหว่างเวลาทําการเพื่อตรวจตรา และให้คําแนะนําต่อผู้ดําเนินการฝึก ผู้ดําเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ผู้ประกอบกิจการ ผู้ประเมิน ผู้ปฏิบัติงานในศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 45 แก้ไขโดย พรบ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557
มาตรา 46 ในการปฏิบัติหน้าที่ของนายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 45 (2) ให้ผู้ดําเนินการฝึก ผู้ดําเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ผู้ประกอบกิจการ ผู้ประเมิน ผู้ปฏิบัติงาน ในศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องหรืออยู่ในสถานที่นั้นอํานวยความสะดวกตามสมควร
มาตรา 46 แก้ไขโดย พรบ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557
มาตรา 47 ในการปฏิบัติหน้าที่ นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัว
บัตรประจำตัวนายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนด
หมวด 7
การเพิกถอนการเป็นผู้ดําเนินการฝึก การพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาต
การเพิกถอนหนังสือรับรองและการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมาย
-----------------------
ชื่อหมวด 7 แก้ไขโดย พรบ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557
มาตรา 48 ในกรณีที่ผู้ดำเนินการฝึกฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ดำเนินการฝึกปฏิบัติให้ถูกต้องหรือแก้ไขให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนดได้
ถ้าผู้ดำเนินการฝึกไม่ปฏิบัติหรือแก้ไขให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งเพิกถอนการเป็นผู้ดำเนินการฝึกได้
คำสั่งเพิกถอนการเป็นผู้ดำเนินการฝึกให้ทำเป็นหนังสือส่งให้ผู้ดำเนินการฝึกนั้นทราบ ถ้าไม่พบตัวผู้ดำเนินการฝึกหรือผู้ดำเนินการฝึกไม่ยอมรับคำสั่ง ให้ปิดคำสั่งดังกล่าวไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ สถานที่ฝึกหรือศูนย์ฝึกอบรมฝีมือแรงงาน แล้วแต่กรณี และให้ถือว่าผู้ดำเนินการฝึกได้รับทราบคำสั่งแล้วตั้งแต่วันที่ปิดคำสั่ง เว้นแต่กรณีไม่พบตัวผู้ดำเนินการฝึกให้ถือว่าได้รับคำสั่งเมื่อพ้นระยะเวลาสิบห้าวันนับแต่วันที่ปิดคำสั่ง
ในกรณีการเพิกถอนการเป็นผู้ดำเนินการฝึกตามวรรคสอง ถ้าเป็นการฝึกเตรียมเข้าทำงานให้นำมาตรา 14 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่ผู้รับการฝึกซึ่งค้างการฝึกอยู่ในวันที่นายทะเบียนมีคำสั่งเพิกถอนการเป็นผู้ดำเนินการฝึกดังกล่าวโดยอนุโลม
มาตรา 49 ในกรณีที่ผู้ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือตามกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้ผู้ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานปฏิบัติให้ถูกต้องหรือแก้ไขให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนดได้
ถ้าผู้ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องหรือแก้ไขให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือสั่งเพิกถอนใบอนุญาตเป็นผู้ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานได้ แล้วแต่กรณี
คำสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตให้ทำเป็นหนังสือส่งให้ผู้ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานนั้นทราบ ถ้าไม่พบตัวผู้ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานหรือผู้ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานไม่ยอมรับคำสั่ง ให้ปิดคำสั่งดังกล่าวไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ สถานที่ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานหรือศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน และให้ถือว่าผู้ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานได้รับทราบคำสั่งแล้วตั้งแต่วันที่ปิดคำสั่ง เว้นแต่กรณีไม่พบตัวผู้ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ถือว่าได้รับคำสั่งเมื่อพ้นระยะเวลาสิบห้าวันนับแต่วันที่ปิดคำสั่ง
ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาต ห้ามมิให้ผู้ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน
มาตรา 49/1 ในกรณีที่ปรากฏต่อนายทะเบียนว่าศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถหรือผู้ประเมินปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้ และการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัตินั้นสามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ ให้นายทะเบียนมีคําสั่งเป็นหนังสือให้ปฏิบัติให้ถูกต้องภายในเวลาที่กําหนด
ในกรณีที่นายทะเบียนมีคําสั่งตามวรรคหนึ่ง หากศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถหรือผู้ประเมินไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องหรือไม่แก้ไขให้ถูกต้องภายในเวลาที่กําหนด ให้นายทะเบียนมีคําสั่งให้ศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถหรือผู้ประเมินหยุดการดําเนินการจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้องหรือแก้ไขให้ถูกต้อง
ในระหว่างถูกสั่งให้หยุดการดําเนินการ ห้ามศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถหรือผู้ประเมินดําเนินการใด ๆ เกี่ยวกับการรับรองความรู้ความสามารถ
มาตรา 49/1 เพิ่มเติมโดย พรบ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557
มาตรา 49/2 ในกรณีที่ปรากฏต่อนายทะเบียนว่าศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถหรือผู้ประเมินปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้ และการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัตินั้นไม่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ ให้นายทะเบียนมีคําสั่งเพิกถอนหนังสือรับรองการเป็นศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถ หรือหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประเมิน
มาตรา 49/2 เพิ่มเติมโดย พรบ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557
มาตรา 49/3 คําสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา 49/1 และมาตรา 49/2 ให้ทําเป็นหนังสือ และแจ้งคําสั่งให้ศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถหรือผู้ประเมินนั้นทราบ และให้นําบทบัญญัติมาตรา 48 วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 49/3 เพิ่มเติมโดย พรบ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557
มาตรา 49/4 ในกรณีที่พบว่าสถานประกอบกิจการที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายตาม มาตรา 33/1 (3) มีการจ้างงานผู้ได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถน้อยกว่าจํานวนที่คณะกรรมการประกาศกําหนด ให้นายทะเบียนออกคําสั่งเป็นหนังสือให้ปฏิบัติให้ถูกต้องหรือแก้ไขให้ถูกต้องภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับคําสั่ง หากสถานประกอบกิจการไม่ดําเนินการให้ถูกต้อง ให้นายทะเบียนออกคําสั่งเพิกถอนการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมาย
มาตรา 49/4 เพิ่มเติมโดย พรบ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557
มาตรา 49/5 ในกรณีที่การออกหนังสือรับรองความรู้ความสามารถไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นไปตาม มาตรา 26/10 ให้นายทะเบียนมีอํานาจออกคําสั่งเพิกถอนหนังสือรับรองความรู้ความสามารถนั้นได้
มาตรา 49/5 เพิ่มเติมโดย พรบ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557
หมวด 8
การอุทธรณ์
-----------------------
มาตรา 50 ผู้ดำเนินการฝึกซึ่งถูกเพิกถอนการเป็นผู้ดำเนินการฝึกตามมาตรา 48 มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการภายในสิบห้าวันนับแต่วันได้รับคำสั่ง และให้คณะกรรมการแจ้งผลการวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ผู้อุทธรณ์ทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด
ในระหว่างรอคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ให้ถือว่าผู้อุทธรณ์ยังเป็นผู้ดำเนินการฝึกมีสิทธิและประโยชน์ตามที่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์
ในกรณีผู้ดำเนินการฝึกไม่อุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนของนายทะเบียนภายในกำหนดตามวรรคหนึ่งหรือในกรณีคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ ให้สิทธิและประโยชน์ที่ได้รับตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้เป็นอันระงับตั้งแต่วันที่ได้รับคำสั่งเพิกถอนของนายทะเบียนหรือวันที่คณะกรรมการมีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ แล้วแต่กรณี
มาตรา 51 ผู้ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานซึ่งถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือถูสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา 49 มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการภายในสิบห้าวันนับแต่วันได้รับคำสั่ง และให้คณะกรรมการแจ้งผลการวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ผู้อุทธรณ์ทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด
มาตรา 51/1 ศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถตามมาตรา 26/4 (2) ผู้ประเมิน สถานประกอบกิจการ หรือผู้ได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ ซึ่งได้รับคําสั่งตามมาตรา 49/1 มาตรา 49/2 มาตรา 49/3 มาตรา 49/4 หรือมาตรา 49/5 มีสิทธิอุทธรณ์คําสั่งของนายทะเบียนต่อคณะกรรมการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคําสั่ง และให้คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ และแจ้งผลการวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ผู้อุทธรณ์ทราบโดยไม่ชักช้า
คําวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด
มาตรา 51/1 เพิ่มเติมโดย พรบ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557
มาตรา 52 การอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
หมวด 9
บทกำหนดโทษ
-----------------------
มาตรา 53 ผู้ใดกระทําการเป็นผู้ดําเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานโดยมิได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 24 หรือดําเนินการฝ่าฝืนมาตรา 49 วรรคสี่ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาท
มาตรา 53 แก้ไขโดย พรบ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557
มาตรา 53/1 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 26/3 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
มาตรา 53/1 เพิ่มเติมโดย พรบ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557
มาตรา 53/2 ผู้ใดจ้างงานผู้ที่ไม่มีหนังสือรับรองความรู้ความสามารถตามมาตรา 26/3 ทํางานในสถานประกอบกิจการในสาขาอาชีพ ตําแหน่งงาน หรือลักษณะงาน ที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะหรือต้องใช้ผู้มีความรู้ความสามารถตามที่รัฐมนตรีประกาศกําหนดตามมาตรา 7 (2) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท
มาตรา 53/2 เพิ่มเติมโดย พรบ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557
มาตรา 53/3 ผู้ใดดําเนินการเป็นศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถตามมาตรา 26/4 (2) หรือเป็นผู้ประเมินโดยมิได้รับหนังสือรับรองจากนายทะเบียนตามมาตรา 26/7 หรือมาตรา 26/11 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาท
มาตรา 53/3 เพิ่มเติมโดย พรบ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557
มาตรา 53/4 ผู้ใดใช้เครื่องหมายตามมาตรา 33/1 (3) โดยมิได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
มาตรา 53/4 เพิ่มเติมโดย พรบ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557
มาตรา 53/5 ผู้ใดไม่มาให้ถ้อยคําหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของนายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ขัดขวางหรือไม่อํานวยความสะดวกแก่นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 45 หรือมาตรา 46 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
มาตรา 53/5 เพิ่มเติมโดย พรบ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557
มาตรา 53/6 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 49/1 วรรคสาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
มาตรา 53/6 เพิ่มเติมโดย พรบ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557
มาตรา 53/7 บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนมีอํานาจเปรียบเทียบได้
มาตรา 53/7 เพิ่มเติมโดย พรบ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557
บทเฉพาะกาล
-----------------------
มาตรา 54 ให้ผู้ดำเนินการฝึกตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกอาชีพ พ.ศ. 2537 เป็นผู้ดำเนินการฝึกตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 55 ให้คณะกรรมการส่งเสริมการฝึกอาชีพตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกอาชีพ พ.ศ. 2537 ซึ่งมีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานตามพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะได้มีคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 56 บรรดากฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกอาชีพ พ.ศ. 2537 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะมีกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี
เล่ม 119/ตอนที่ 98/1 ก/หน้า 1/1 ตุลาคม 2545
หมายเหตุ :-
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่บทบัญญัติที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกอาชีพ พ.ศ. 2537 ยังไม่เอื้ออำนวยเพียงพอต่อการพัฒนาฝีมือแรงงานในภาวะปัจจุบัน ดังนั้น เพื่อให้การพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับกาลสมัย สมควรปรับปรุงพระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกอาชีพ พ.ศ. 2537 ให้นายจ้างหรือสถานประกอบกิจการมีส่วนร่วมในการพัฒนาฝีมือแรงงานมากขึ้นและให้มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อสนับสนุนการพัฒนาฝีมือแรงงาน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
อัตราค่าธรรมเนียม
-----------------------
(1) สมุดประจำตัว เล่มละ 100 บาท
(2) การบันทึกข้อมูลในสมุดประจำตัว รายการละ 50 บาท
แต่รวมกันไม่เกิน
ครั้งละ 500 บาท
(3) การขึ้นทะเบียนเป็นศูนย์ประเมินความรู้ ครั้งละ 2,000 บาท
ความสามารถตามมาตรา 26/4 (2)
(4) หนังสือรับรองการเป็นศูนย์ประเมินความรู้ ฉบับละ 10,000 บาท
ความสามารถตามมาตรา 26/4 (2)
(5) การต่ออายุหนังสือรับรองการเป็นศูนย์ประเมิน ครั้งละ 10,000 บาท
ความรู้ความสามารถตามมาตรา 26/4 (2)
(6) ใบแทนหนังสือรับรองการเป็นศูนย์ประเมิน ฉบับละ 500 บาท
ความรู้ความสามารถตามมาตรา 26/4 (2)
(7) การประเมินเพื่อออกหนังสือรับรองความรู้ ครั้งละ 5,000 บาท
ความสามารถตามมาตรา 26/13 วรรคหนึ่ง
(8) ใบแทนหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ ฉบับละ 100 บาท
(9) หนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประเมิน ฉบับละ 1,000 บาท
(10) ใบแทนหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประเมิน ฉบับละ 100 บาท
(11) บัตรประจำตัวผู้ประเมิน ฉบับละ 100 บาท
(12) การอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายตามมาตรา 33/1 (3) ครั้งละ 5,000 บาท
ในการออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมจะกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมให้แตกต่างกันโดยคำนึงถึงสาขาอาชีพ ตำแหน่งงาน หรือลักษณะงานก็ได้