ข้อบังคับสภาวิศวกร
ว่าด้วยหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแต่ละระดับ
สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า
พ.ศ. ๒๕๕๑
-----------------------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๖) (ฉ) และมาตรา ๔๖ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. ๒๕๔๒ และกฎกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ. ๒๕๕๐ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๔๓ และมาตรา ๔๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย สภาวิศวกรโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่สามัญสภาวิศวกร และโดยความเห็นชอบของสภานายกพิเศษแห่งสภาวิศวกร จึงออกข้อบังคับไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับสภาวิศวกร ว่าด้วยหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแต่ละระดับ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า พ.ศ. ๒๕๕๑”
ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้งาน ประเภท และขนาดของงานวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ. ๒๕๕๐
ข้อ ๔ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า แขนงไฟฟ้ากำลัง ระดับวุฒิวิศวกร ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า งานไฟฟ้ากำลัง ได้ทุกงาน ทุกประเภท และทุกขนาด
ข้อ ๕ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า แขนงไฟฟ้ากำลัง ระดับสามัญวิศวกร ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า งานไฟฟ้ากำลัง ได้เฉพาะงาน ประเภท และขนาดดังนี้
(๑) งานวางโครงการ ระบบการผลิตไฟฟ้าที่มีขนาดรวมกันไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ กิโลโวลต์แอมแปร์ หรือที่มีขนาดแรงดันสูงสุดระหว่างสายในระบบไม่เกิน ๓๖,๐๐๐ โวลต์
(๒) งานออกแบบและคำนวณ
(ก) ระบบหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีขนาดไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ กิโลโวลต์แอมแปร์ หรือที่มีขนาดแรงดันระหว่างสายในระบบไม่เกิน ๓๖,๐๐๐ โวลต์
(ข) ระบบไฟฟ้าสำหรับอาคารสาธารณะที่มีขนาดการใช้ไฟฟ้ากำลังรวมกันไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ กิโลโวลต์แอมแปร์
(ค) ระบบสัญญาณเตือนอัคคีภัยและระบบป้องกันฟ้าผ่าสำหรับ อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ หรืออาคารชุด ทุกขนาด
(๓) งานควบคุมการสร้างหรือการผลิต
(ก) ระบบไฟฟ้าที่มีขนาดแรงดันระหว่างสายในระบบไม่เกิน ๑๑๕ กิโลโวลต์
(ข) อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีขนาดไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ กิโลโวลต์แอมแปร์ หรือที่มีขนาดแรงดันระหว่างสายในระบบไม่เกิน ๑๑๕ กิโลโวลต์
(ค) ระบบไฟฟ้าสำหรับอาคารสาธารณะที่มีขนาดการใช้ไฟฟ้ากำลังรวมกันไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ กิโลโวลต์แอมแปร์
(ง) ระบบสัญญาณเตือนอัคคีภัยและระบบป้องกันฟ้าผ่าสำหรับ อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ หรืออาคารชุด ทุกขนาด
(๔) งานพิจารณาตรวจสอบ ทุกประเภทและทุกขนาด
(๕) งานอำนวยการใช้
(ก) ระบบไฟฟ้าที่มีขนาดแรงดันสูงสุดระหว่างสายในระบบไม่เกิน ๑๑๕ กิโลโวลต์
(ข) อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีขนาดไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ กิโลโวลต์แอมแปร์ หรือที่มีขนาดแรงดันสูงสุดระหว่างสายในระบบไม่เกิน ๑๑๕ กิโลโวลต์
ข้อ ๖ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า แขนงไฟฟ้ากำลัง ระดับภาคีวิศวกร ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า งานไฟฟ้ากำลัง ได้เฉพาะงาน ประเภท และขนาดดังนี้
(๑) งานออกแบบและคำนวณ
(ก) ระบบหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีขนาดไม่เกิน ๑,๐๐๐ กิโลโวลต์แอมแปร์ หรือที่มีขนาดแรงดันระหว่างสายในระบบไม่เกิน ๑๒ กิโลโวลต์
(ข) ระบบไฟฟ้าสำหรับอาคารสาธารณะที่มีขนาดการใช้ไฟฟ้ากำลังรวมกันไม่เกิน ๑,๐๐๐ กิโลโวลต์แอมแปร์
(ค) ระบบสัญญาณเตือนอัคคีภัยและระบบป้องกันฟ้าผ่าสำหรับ อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ หรืออาคารชุด ทุกขนาด
(๒) งานควบคุมการสร้างหรือการผลิต
(ก) ระบบไฟฟ้าที่มีขนาดไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ กิโลโวลต์แอมแปร์ หรือที่มีขนาดแรงดันระหว่างสายในระบบไม่เกิน ๓๖ กิโลโวลต์
(ข) ระบบไฟฟ้าสำหรับอาคารสาธารณะที่มีขนาดการใช้ไฟฟ้ากำลังรวมกัน ไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ กิโลโวลต์แอมแปร์
(ค) ระบบสัญญาณเตือนอัคคีภัยและระบบป้องกันฟ้าผ่าสำหรับ อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ หรืออาคารชุด ทุกขนาด
(๓) งานพิจารณาตรวจสอบยกเว้นการวิเคราะห์ระบบไฟฟ้า ทุกประเภทและทุกขนาด
(๔) งานอำนวยการใช้ระบบหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีขนาดไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ กิโลโวลต์แอมแปร์หรือที่มีขนาดแรงดันสูงสุดระหว่างสายในระบบไม่เกิน ๓๖ กิโลโวลต์
ข้อ ๗ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า แขนงไฟฟ้ากำลัง ระดับภาคีวิศวกรพิเศษ ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า งานไฟฟ้า ได้ตามงาน ประเภท และขนาดที่ระบุไว้ในใบอนุญาต
ข้อ ๘ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า แขนงไฟฟ้าสื่อสาร ระดับวุฒิวิศวกร ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า งานไฟฟ้าสื่อสาร ได้ทุกงาน ทุกประเภท และทุกขนาด
ข้อ ๙ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า แขนงไฟฟ้าสื่อสาร ระดับสามัญวิศวกร ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า งานไฟฟ้าสื่อสาร ได้เฉพาะงาน ประเภท และขนาดดังนี้
(๑) งานวางโครงการระบบเครือข่ายที่มีสถานีรับ ส่ง และถ่ายทอดเพื่อกระจายคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีกำลังส่งแต่ละสถานีไม่เกิน ๕ กิโลวัตต์
(๒) งานออกแบบและคำนวณ และงานควบคุมการสร้างหรือการผลิต
(ก) ระบบกระจายคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีกำลังส่งแต่ละสถานีไม่เกิน ๕ กิโลวัตต์
(ข) ระบบรับ ส่ง แยก หรือรวมสัญญาณส่งโดยใช้ความถี่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าทุกขนาด
(๓) งานพิจารณาตรวจสอบทุกประเภทและทุกขนาด
(๔) งานอำนวยการใช้ระบบกระจายคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีกำลังส่งแต่ละสถานีไม่เกิน ๕ กิโลวัตต์
ข้อ ๑๐ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า แขนงไฟฟ้าสื่อสาร ระดับภาคีวิศวกร ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า งานไฟฟ้าสื่อสาร ได้เฉพาะงาน ประเภท และขนาดดังนี้
(๑) งานออกแบบและคำนวณ และงานควบคุมการสร้างหรือการผลิต ระบบรับ ส่ง แยก หรือรวมสัญญาณส่งโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีช่องการสื่อสารไม่เกิน ๒๔๐ วงจรเสียงหรือเทียบเท่า
(๒) งานพิจารณาตรวจสอบทุกประเภทและทุกขนาด
(๓) งานอำนวยการใช้ระบบกระจายคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีกำลังส่งแต่ละสถานีไม่เกิน ๒ กิโลวัตต์
ข้อ ๑๑ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า แขนงไฟฟ้าสื่อสาร ระดับภาคีวิศวกรพิเศษ ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า งานไฟฟ้าสื่อสาร ได้ตามงาน ประเภท และขนาดที่ระบุไว้ในใบอนุญาต
ข้อ ๑๒ ในกรณีที่ต้องมีการวินิจฉัยชี้ขาดหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแต่ละระดับ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ตามข้อบังคับนี้ ให้คณะกรรมการสภาวิศวกรเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด คำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการสภาวิศวกรให้เป็นที่สุด
ข้อ ๑๓ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ซึ่งประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามประเภท และสาขาที่ระบุไว้ในใบอนุญาต ภายในข้อกำหนดและเงื่อนไขตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๐๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. ๒๕๐๕ อยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ ให้ผู้นั้นประกอบการงานนั้นต่อไปได้จนกว่างานจะแล้วเสร็จ
ประกาศ ณ วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑
วิระ มาวิจักขณ์
นายกสภาวิศวกร
เล่ม ๑๒๕ ตอนพิเศษ ๑๗๘ ง ราชกิจจานุเบกษา ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๑