ReadyPlanet.com
dot
ฐานข้อมูลกรมโยธาธิการและผังเมือง
กฎหมายเกี่ยวกับตรวจสอบอาคาร
ศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถตามมาตรา ๒๖/๔ (๒) สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร




ข้อบังคับสภาวิศวกร ว่าด้วยหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแต่ละระดับสาขาวิศวกรรมเครื่องกล พ.ศ. ๒๕๕๑ article
วันที่ 14/06/2013   20:56:19

 

ข้อบังคับสภาวิศวกร

ว่าด้วยหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแต่ละระดับ

สาขาวิศวกรรมเครื่องกล

พ.ศ. ๒๕๕๑

-----------------------

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๖) (ฉ) และมาตรา ๔๖ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. ๒๕๔๒ และกฎกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ. ๒๕๕๐ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๔๓ และมาตรา ๔๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย สภาวิศวกรโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่สามัญสภาวิศวกร และโดยความเห็นชอบของสภานายกพิเศษแห่งสภาวิศวกร จึงออกข้อบังคับไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า ข้อบังคับสภาวิศวกร ว่าด้วยหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแต่ละระดับ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล พ.ศ. ๒๕๕๑

ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ ๓ ให้งาน ประเภท และขนาดของงานวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสาขาวิศวกรรมเครื่องกล เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ. ๒๕๕๐

ข้อ ๔ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ระดับวุฒิวิศวกร ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ได้ทุกงาน ทุกประเภทและทุกขนาด

ข้อ ๕ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ระดับสามัญวิศวกร ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ได้เฉพาะงานประเภท และขนาดดังนี้

(๑) งานวางโครงการทุกประเภทและทุกขนาด

(๒) งานออกแบบและคำนวณ

(ก) เครื่องจักรกลที่มีขนาดรวมกันไม่เกิน ๗๕๐ กิโลวัตต์ต่อเครื่อง

(ข) เครื่องกำเนิดไอน้ำหรือไออย่างอื่น ภาชนะรับแรงดัน หรือเตาอุตสาหกรรมที่มีขนาดความดันไม่เกิน ๔,๐๐๐ กิโลปาสกาล หรือภาชนะรับแรงดันปริมาตรไม่เกิน ๑๐ ลูกบาศก์เมตรต่อถัง หรืออัตราการผลิตไอน้ำหรือไออย่างอื่นไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ กิโลกรัมต่อชั่วโมง

(ค) เครื่องปรับภาวะอากาศหรือเครื่องทำความเย็นที่มีขนาดทำความเย็นไม่เกิน ๗๐๐ กิโลวัตต์ต่อเครื่อง หรือที่มีพื้นที่ปรับอากาศหรือทำความเย็นไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ ตารางเมตร

(ง) ระบบของไหลในท่อรับแรงดันหรือสุญญากาศที่มีความดันของไหลในท่อทุกขนาด เว้นแต่ของไหลเป็นสารมีพิษหรือวัตถุอันตรายตามกฎหมาย ว่าด้วยการควบคุมวัตถุอันตราย ทั้งนี้ มิให้หมายความรวมถึงสารทำความเย็นทั่วไป

(จ) การจัดการพลังงานทุกขนาด

(ฉ) ระบบดับเพลิงและป้องกันอัคคีภัยทุกขนาด

(๓) งานควบคุมการสร้างหรือการผลิต

(ก) เครื่องจักรกลที่มีขนาดรวมกันไม่เกิน ๒,๐๐๐ กิโลวัตต์ต่อเครื่อง

(ข) เครื่องกำเนิดไอน้ำหรือไออย่างอื่น ภาชนะรับแรงดัน หรือเตาอุตสาหกรรมที่มีความดันไม่เกิน ๔,๐๐๐ กิโลปาสกาล หรือภาชนะรับแรงดันปริมาตรไม่เกิน ๓๐ ลูกบาศก์เมตรต่อถัง หรืออัตราการผลิตไอน้ำหรือไออย่างอื่นไม่เกิน ๓๐,๐๐๐ กิโลกรัมต่อชั่วโมง

(ค) เครื่องปรับภาวะอากาศหรือเครื่องทำความเย็นที่มีขนาดทำความเย็นไม่เกิน ๑,๕๐๐ กิโลวัตต์ต่อเครื่อง

(ง) ระบบของไหลในท่อรับแรงดันหรือสุญญากาศที่มีความดันของไหลในท่อไม่เกิน ๓,๐๐๐ กิโลปาสกาล เว้นแต่ของไหลเป็นสารมีพิษหรือวัตถุอันตรายตามกฎหมาย ว่าด้วยการควบคุมวัตถุอันตราย ทั้งนี้ มิให้หมายความรวมถึงสารทำความเย็นทั่วไป

(จ) ระบบดับเพลิงและป้องกันอัคคีภัยทุกขนาด

(๔) งานพิจารณาตรวจสอบ ทุกประเภทและทุกขนาด

(๕) งานอำนวยการใช้

(ก) เครื่องจักรกลที่มีขนาดรวมกันไม่เกิน ๕,๐๐๐ กิโลวัตต์ต่อระบบ

(ข) เครื่องกำเนิดไอน้ำหรือไออย่างอื่น ภาชนะรับแรงดัน หรือเตาอุตสาหกรรมที่มีความดันไม่เกิน ๕,๐๐๐ กิโลปาสกาล หรือที่มีอัตราการผลิตไอน้ำหรือไออย่างอื่นไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ กิโลกรัมต่อชั่วโมงต่อเครื่อง หรือที่มีขนาดรวมกันไม่เกิน ๓๐๐,๐๐๐ กิโลกรัมต่อชั่วโมงต่อระบบ

(ค) หม้ออัดอากาศหรือหม้ออัดก๊าซที่มีขนาดความดันไม่เกิน ๕,๐๐๐ กิโลปาสกาล และมีปริมาตรไม่เกิน ๕๐ ลูกบาศก์เมตร

(ง) เครื่องปรับภาวะอากาศหรือเครื่องทำความเย็น ทุกขนาด

(จ) ระบบของไหลในท่อรับแรงดันหรือสุญญากาศที่มีความดันของไหลในท่อทุกขนาด เว้นแต่ของไหลเป็นสารมีพิษหรือวัตถุอันตรายตามกฎหมาย ว่าด้วยการควบคุมวัตถุอันตราย ทั้งนี้ มิให้หมายความรวมถึงสารทำความเย็นทั่วไป

(ฉ) ระบบดับเพลิงและป้องกันอัคคีภัยทุกขนาด

ข้อ ๖ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ระดับภาคีวิศวกร ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ได้เฉพาะงาน ประเภท และขนาดดังนี้

(๑) งานวางโครงการ

(ก) เครื่องจักรกลที่มีมูลค่าไม่เกินห้าสิบล้านบาทต่อโครงการ หรือที่มีขนาดระบบรวมกันไม่เกิน ๕๐๐ กิโลวัตต์ หรือที่ใช้งานในอาคารที่มีพื้นที่ใช้สอยในอาคารไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ ตารางเมตร หรือที่ใช้งานในอาคารที่มีผู้ใช้สอยพื้นที่ไม่เกินห้าร้อยคน

(ข) เครื่องกำเนิดไอน้ำหรือไออย่างอื่น ภาชนะรับแรงดัน หรือเตาอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าไม่เกินห้าสิบล้านบาทต่อโครงการ หรือเครื่องกำ เนิดไอน้ำ หรือไออย่างอื่น หรือเตาอุตสาหกรรมที่ใช้ความร้อนไม่เกิน ๑๐๐ ล้านเมกะจูลต่อปี หรือเครื่องกำเนิดไอน้ำหรือไออย่างอื่น ภาชนะรับแรงดัน หรือเตาอุตสาหกรรมที่ใช้งานในอาคารที่มีพื้นที่ใช้สอยในอาคารไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ ตารางเมตร หรือที่ใช้งานในอาคารที่มีผู้ใช้สอยพื้นที่ไม่เกินห้าร้อยคน

(ค) เครื่องปรับภาวะอากาศหรือเครื่องทำความเย็นที่มีมูลค่าไม่เกินห้าสิบล้านบาทต่อโครงการ หรือที่มีขนาดทำความเย็นของระบบไม่เกิน ๕๐๐ กิโลวัตต์ หรือที่ใช้งานในอาคารที่มีพื้นที่ใช้สอยในอาคารไม่เกิน ๕,๐๐๐ ตารางเมตร หรือที่ใช้งานในอาคารที่มีผู้ใช้สอยพื้นที่ไม่เกินห้าร้อยคน

(ง) ระบบของไหลในท่อรับแรงดัน หรือสุญญากาศที่มีมูลค่าไม่เกินห้าสิบล้านบาทต่อโครงการ หรือที่มีขนาดระบบไม่เกิน ๕๐๐ กิโลวัตต์ หรือที่ใช้งานในอาคารที่มีพื้นที่ใช้สอยในอาคารไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ ตารางเมตร หรือที่ใช้งานในอาคารที่มีผู้ใช้สอยพื้นที่ไม่เกินห้าร้อยคน

(จ) การจัดการพลังงานที่มีขนาดไม่เกิน ๒,๐๐๐ กิโลวัตต์ หรือใช้ความร้อนไม่เกิน ๔๐ ล้านเมกะจูลต่อปี

(ฉ) ระบบดับเพลิงและป้องกันอัคคีภัย ซึ่งไม่ใช่ระบบดับเพลิงแบบพิเศษ เช่น การใช้ก๊าซหรือโฟม เป็นต้น ที่มีมูลค่ารวมกันไม่เกินสิบล้านบาทต่อระบบ หรือที่มีพื้นที่ป้องกันอัคคีภัยไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ ตารางเมตร

(๒) งานออกแบบและคำนวณ

(ก) เครื่องจักรกลที่มีขนาดรวมกันไม่เกิน ๑๐๐ กิโลวัตต์ต่อเครื่อง

(ข) เครื่องกำเนิดไอน้ำหรือไออย่างอื่น ภาชนะรับแรงดัน หรือเตาอุตสาหกรรมที่มีขนาดความดันไม่เกิน ๑,๐๐๐ กิโลปาสกาล หรือภาชนะรับแรงดัน ปริมาตรไม่เกิน ๓ ลูกบาศก์เมตรต่อถัง หรืออัตราการผลิตไอน้ำหรือไออย่างอื่นไม่เกิน ๕,๐๐๐ กิโลกรัมต่อชั่วโมง

(ค) เครื่องปรับภาวะอากาศหรือเครื่องทำความเย็นที่มีขนาดทำความเย็นไม่เกิน ๑๐๐ กิโลวัตต์ต่อเครื่อง หรือที่มีพื้นที่ปรับอากาศหรือทำความเย็นไม่เกิน ๒,๐๐๐ ตารางเมตร

(ง) ระบบของไหลในท่อรับแรงดันหรือสุญญากาศที่มีความดันของไหลในท่อไม่เกิน ๑,๕๐๐ กิโลปาสกาล เว้นแต่ของไหลเป็นสารมีพิษหรือวัตถุอันตรายตามกฎหมาย ว่าด้วยการควบคุมวัตถุอันตราย ทั้งนี้ มิให้หมายความรวมถึงสารทำความเย็นทั่วไป

(จ) การจัดการพลังงานขนาดไม่เกิน ๑,๐๐๐ กิโลวัตต์ หรือใช้ความร้อนไม่เกิน ๒๐ ล้านเมกกะจูลต่อปี

(ฉ) ระบบดับเพลิงและป้องกันอัคคีภัย ซึ่งไม่ใช่ระบบดับเพลิงแบบพิเศษ เช่น การใช้ก๊าซหรือโฟม เป็นต้น ที่มีมูลค่ารวมกันไม่เกินห้าล้านบาทต่อระบบ หรือที่มีพื้นที่ป้องกันอัคคีภัยไม่เกิน ๕,๐๐๐ ตารางเมตร

(๓) งานควบคุมการสร้างหรือการผลิต

(ก) เครื่องจักรกลที่มีขนาดรวมกันไม่เกิน ๕๐๐ กิโลวัตต์ต่อเครื่อง

(ข) เครื่องกำเนิดไอน้ำหรือไออย่างอื่น ภาชนะรับแรงดัน หรือเตาอุตสาหกรรมที่มีความดันไม่เกิน ๒,๐๐๐ กิโลปาสกาล หรือภาชนะรับแรงดันปริมาตรไม่เกิน ๑๐ ลูกบาศก์เมตรต่อถัง หรืออัตราการผลิตไอน้ำหรือไออย่างอื่นไม่เกิน ๕,๐๐๐ กิโลกรัมต่อชั่วโมงต่อเครื่อง

(ค) เครื่องปรับภาวะอากาศหรือเครื่องทำความเย็นที่มีขนาดทำความเย็นไม่เกิน ๓๕๐ กิโลวัตต์ต่อเครื่อง

(ง) ระบบของไหลในท่อรับแรงดันหรือสุญญากาศที่มีความดันของไหลในท่อไม่เกิน ๑,๕๐๐ กิโลปาสกาล เว้นแต่ของไหลเป็นสารมีพิษหรือวัตถุอันตรายตามกฎหมาย ว่าด้วยการควบคุมวัตถุอันตราย ทั้งนี้ มิให้หมายความรวมถึงสารทำความเย็นทั่วไป

(จ) ระบบดับเพลิงและป้องกันอัคคีภัยทุกขนาด

(๔) งานพิจารณาตรวจสอบ

(ก) เครื่องจักรกลที่มีขนาดรวมกันไม่เกิน ๑๐๐ กิโลวัตต์ต่อเครื่อง

(ข) ระบบดับเพลิงและป้องกันอัคคีภัยทุกขนาด

(๕) งานอำนวยการใช้

(ก) เครื่องจักรกลที่มีขนาดรวมกันไม่เกิน ๒,๐๐๐ กิโลวัตต์ต่อระบบ

(ข) เครื่องกำเนิดไอน้ำหรือไออย่างอื่น ภาชนะรับแรงดัน หรือเตาอุตสาหกรรมที่มีความดันไม่เกิน ๒,๐๐๐ กิโลปาสกาล หรือที่มีอัตราการผลิตไอน้ำหรือไออย่างอื่นไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ กิโลกรัมต่อชั่วโมงต่อเครื่อง หรือที่มีขนาดรวมกันไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ กิโลกรัมต่อชั่วโมงต่อระบบ

(ค) หม้ออัดอากาศหรือหม้ออัดก๊าซที่มีขนาดความดันไม่เกิน ๒,๐๐๐ กิโลปาสกาล และมีปริมาตรไม่เกิน ๓๐ ลูกบาศก์เมตร

(ง) เครื่องปรับภาวะอากาศหรือเครื่องทำความเย็นที่มีขนาดทำความเย็นไม่เกิน ๒,๐๐๐ กิโลวัตต์ต่อระบบ

(จ) ระบบของไหลในท่อรับแรงดันหรือสุญญากาศ ที่มีความดันของไหลในท่อไม่เกิน ๒,๐๐๐ กิโลปาสกาล เว้นแต่ของไหลเป็นสารมีพิษหรือวัตถุอันตรายตามกฎหมาย ว่าด้วยการควบคุมวัตถุอันตราย ทั้งนี้ มิให้หมายความรวมถึงสารทำความเย็นทั่วไป

(ฉ) ระบบดับเพลิงและป้องกันอัคคีภัยทุกขนาด

ข้อ ๗ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ระดับภาคีวิศวกรพิเศษ ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมเครื่องกลได้ ตามงานประเภท และขนาดที่ระบุไว้ในใบอนุญาต

ข้อ ๘ ในกรณีที่ต้องมีการวินิจฉัยชี้ขาดหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแต่ละระดับ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ตามข้อบังคับนี้ ให้คณะกรรมการสภาวิศวกรเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด คำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการสภาวิศวกรให้เป็นที่สุด

ข้อ ๙ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ซึ่งประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามประเภท และสาขาที่ระบุไว้ในใบอนุญาต ภายในข้อกำหนดและเงื่อนไขตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๐๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. ๒๕๐๕ อยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ ให้ผู้นั้นประกอบการงานนั้นต่อไปได้จนกว่างานจะแล้วเสร็จ

 

                                                                                        ประกาศ ณ วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑

                                                                                                                   วิระ มาวิจักขณ์

                                                                                                                 นายกสภาวิศวกร

                                                                                                                               

เล่ม ๑๒๕ ตอนพิเศษ ๑๗๘ ง ราชกิจจานุเบกษา ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๑

 




กฎหมาย




Copyright © 2012 All Rights Reserved.


  

 

สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร | THE BUILDING INSPECTORS ASSOCIATION
เลขที่ 487 ซ.รามคำแหง 39 (เทพลีลา 1) ถ.รามคำแหง
แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ 10310
โทรศัพท์: 0-2184-4612   โทรสาร: 0-2184-4613
http://www.bsa.or.th