กฎกระทรวง
กำหนดชนิดหรือประเภทของอาคารที่เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคาร
หรือผู้ดำเนินการต้องทำการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมาย
ต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก
พ.ศ. 2548
-----------------------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 (3) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และมาตรา 8 (13) และ (16) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2543 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 31 มาตรา 35 มาตรา 48 มาตรา 49 และมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 อาคารของเอกชนที่จะต้องจัดให้มีการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก มีดังต่อไปนี้
(1) อาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ
(2) อาคารชุมนุมคน
(3) โรงมหรสพ
(4) โรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม
(5) สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ
(6) ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายที่สูงจากพื้นดินตั้งแต่สิบห้าเมตรขึ้นไปหรือมีพื้นที่ตั้งแต่ห้าสิบตารางเมตรขึ้นไป หรือป้ายที่ติดหรือตั้งบนหลังคาหรือดาดฟ้าของอาคารหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ยี่สิบห้าตารางเมตรขึ้นไป
ข้อ 2 เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคารหรือผู้ดำเนินการที่ได้ทำการประกันภัยตามข้อ 1 แล้ว ให้แสดงสำเนาตารางกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ อาคารนั้น
ข้อ 3 ให้เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคารหรือผู้ดำเนินการสำหรับอาคารตามข้อ 1 ที่มีอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ จัดให้มีการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอกภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ
ให้ไว้ ณ วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2548
พลตำรวจเอก ชิดชัย วรรณสถิตย์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
เล่ม 122 ตอนที่ 68 ก ราชกิจจานุเบกษา 19 สิงหาคม 2548