ReadyPlanet.com
dot
ฐานข้อมูลกรมโยธาธิการและผังเมือง
กฎหมายเกี่ยวกับตรวจสอบอาคาร
ศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถตามมาตรา ๒๖/๔ (๒) สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร




กฎกระทรวง กำหนดคุณสมบัติของผู้ทดสอบและตรวจสอบน้ำมัน และผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการทดสอบและตรวจสอบน้ำมัน และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการทดสอบและตรวจสอบน้ำมัน พ.ศ. ๒๕๕๖
วันที่ 10/07/2022   14:52:51

 

กฎกระทรวง
กำหนดคุณสมบัติของผู้ทดสอบและตรวจสอบน้ำมัน
และผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการทดสอบและตรวจสอบน้ำมัน
และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข
ในการทดสอบและตรวจสอบน้ำมัน
พ.ศ. 2556
-----------------------

 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 7 (4) (5) และ (7) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 41 และมาตรา 43 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 2 ในกฎกระทรวงนี้

“น้ำมัน” หมายความว่า น้ำมันตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการแจ้ง การอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง

“การทดสอบและตรวจสอบ” หมายความว่า การทดสอบ การตรวจสอบ การตรวจวัดสภาพและคุณภาพตามมาตรฐาน รวมทั้งการทดสอบ และการตรวจสอบสภาพความเรียบร้อยของการติดตั้งรายการต่าง ๆ ในสถานที่ประกอบกิจการน้ำมัน ดังต่อไปนี้

(1) ถังน้ำมัน ถังเก็บน้ำมัน ถังขนส่งน้ำมัน และอุปกรณ์

(2) ระบบท่อน้ำมัน ระบบการขนส่งน้ำมัน ระบบไฟฟ้า ระบบป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า ระบบป้องกันอันตรายจากการเก็บน้ำมัน ระบบป้องกันอันตรายจากการขนส่งน้ำมัน ระบบป้องกันอันตรายจากการจ่ายน้ำมัน และอุปกรณ์

(3) ที่ตั้ง ลักษณะ และระยะปลอดภัยของสถานที่ประกอบกิจการน้ำมัน

(4) การดำเนินการอื่นที่เกี่ยวกับ (1) (2) และ (3)

“ผู้ทดสอบและตรวจสอบ” หมายความว่า ผู้ดำเนินกิจการให้บริการทางวิชาการด้านวิศวกรรมเกี่ยวกับการทดสอบและตรวจสอบ และออกเอกสารรับรองรายงานผลการทดสอบและตรวจสอบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้

“หัวหน้าวิศวกรทดสอบ” หมายความว่า หัวหน้าวิศวกรผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการทดสอบและตรวจสอบ ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ทดสอบและตรวจสอบให้ทำหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติงานทดสอบและตรวจสอบให้เป็นไปตามหลักวิชาการ รวมทั้งตรวจวิเคราะห์ผลการทดสอบและตรวจสอบ แล้วรายงานผล

ให้ผู้ทดสอบและตรวจสอบเพื่อออกเอกสารรับรองรายงานผลการทดสอบและตรวจสอบ

“วิศวกรทดสอบ” หมายความว่า วิศวกรผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการทดสอบและตรวจสอบ

“การตรวจสอบตามวาระ” หมายความว่า การตรวจสอบสภาพของภาชนะบรรจุน้ำมัน ระบบท่อน้ำมันและอุปกรณ์ รวมทั้งเครื่องมือที่เกี่ยวข้อง ทุกหนึ่งปี

“สถานที่ประกอบกิจการน้ำมัน” หมายความว่า สถานีบริการน้ำมัน สถานที่เก็บรักษาน้ำมัน คลังน้ำมัน และสถานที่ที่มีการรับหรือจ่ายน้ำมันโดยระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการแจ้ง การอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง

หมวด 1
บททั่วไป
-----------------------

ข้อ 3 การทดสอบและตรวจสอบต้องดำเนินการโดยผู้ทดสอบและตรวจสอบ ตามระดับและมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้

ข้อ 4 ผู้ทดสอบและตรวจสอบแบ่งเป็น 3 ระดับ ดังต่อไปนี้

(1) ผู้ทดสอบและตรวจสอบระดับที่ 1 สามารถดำเนินการทดสอบและตรวจสอบรายการต่าง ๆ ในสถานที่ประกอบกิจการน้ำมันที่มีปริมาณของภาชนะบรรจุน้ำมันรวมกันไม่เกิน 360,000 ลิตร ดังต่อไปนี้

(ก) ภาชนะบรรจุน้ำมันที่มีปริมาณไม่เกิน 30,000 ลิตร ได้แก่ ถังน้ำมัน ถังเก็บน้ำมันขนาดเล็ก ถังเก็บน้ำมันขนาดใหญ่ชนิดถังตามแนวนอน ถังเก็บน้ำมันใต้พื้นดิน ถังเก็บน้ำมันที่ติดตั้งภายในโป๊ะเหล็ก และอุปกรณ์ เว้นแต่ถังเก็บน้ำมันในสถานที่ที่มีการรับหรือจ่ายน้ำมันโดยระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อ

(ข) ระบบท่อน้ำมัน ระบบไฟฟ้า ระบบป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า ระบบป้องกันอันตรายจากการเก็บน้ำมัน ระบบป้องกันอันตรายจากการจ่ายน้ำมัน และอุปกรณ์

(ค) ที่ตั้ง ลักษณะ และระยะปลอดภัยของสถานที่ประกอบกิจการน้ำมัน

(2) ผู้ทดสอบและตรวจสอบระดับที่ 2 สามารถดำเนินการทดสอบและตรวจสอบรายการต่าง ๆ ในสถานที่ประกอบกิจการน้ำมันที่มีปริมาณของภาชนะบรรจุน้ำมันรวมกันไม่เกิน 500,000 ลิตร ดังต่อไปนี้

(ก) ภาชนะบรรจุน้ำมันที่มีปริมาณไม่เกิน 100,000 ลิตร ได้แก่ ถังน้ำมัน ถังขนส่งน้ำมัน ถังเก็บน้ำมันขนาดเล็ก ถังเก็บน้ำมันขนาดใหญ่ชนิดถังตามแนวนอน ถังเก็บน้ำมันขนาดใหญ่ชนิดถังตามแนวตั้ง ถังเก็บน้ำมันใต้พื้นดิน ถังเก็บน้ำมันที่ติดตั้งภายในโป๊ะเหล็ก และอุปกรณ์ เว้นแต่ถังเก็บน้ำมันในสถานที่ที่มีการรับหรือจ่ายน้ำมันโดยระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อ

(ข) ระบบท่อน้ำมัน ระบบไฟฟ้า ระบบป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า ระบบป้องกันอันตรายจากการเก็บน้ำมัน ระบบป้องกันอันตรายจากการจ่ายน้ำมัน และอุปกรณ์

(ค) ที่ตั้ง ลักษณะ และระยะปลอดภัยของสถานที่ประกอบกิจการน้ำมัน

(3) ผู้ทดสอบและตรวจสอบระดับที่ 3 สามารถดำเนินการทดสอบและตรวจสอบรายการต่าง ๆ ทุกประเภทในสถานที่ประกอบกิจการน้ำมันตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง ดังต่อไปนี้

(ก) ภาชนะบรรจุน้ำมัน และอุปกรณ์

(ข) ระบบท่อน้ำมัน ระบบการขนส่งน้ำมัน ระบบไฟฟ้า ระบบป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า ระบบป้องกันอันตรายจากการเก็บน้ำมัน ระบบป้องกันอันตรายจากการขนส่งน้ำมัน ระบบป้องกันอันตรายจากการจ่ายน้ำมัน และอุปกรณ์

(ค) ที่ตั้ง ลักษณะ และระยะปลอดภัยของสถานที่ประกอบกิจการน้ำมัน

หมวด 2
เครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบและตรวจสอบ
-----------------------

ข้อ 5 เครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบและตรวจสอบมี 4 ประเภท ดังต่อไปนี้

(1) เครื่องมือตรวจสอบแนวเชื่อมเหล็ก ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วย

(ก) เครื่องตรวจสอบแนวเชื่อมด้วยรังสี (radiographic inspection)

(ข) เครื่องตรวจสอบแนวเชื่อมด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (ultrasonic inspection)

(ค) เครื่องตรวจสอบแนวเชื่อมด้วยอนุภาคแม่เหล็ก (magnetic particle inspection)

(ง) เครื่องตรวจสอบแนวเชื่อมด้วยกล่องสุญญากาศ (vacuum box)

(จ) ชุดตรวจสอบแนวเชื่อมด้วยสารแทรกซึม (liquid penetrant inspection)

(2) เครื่องมือตรวจสภาพภาชนะบรรจุน้ำมันและระบบท่อน้ำมันและอุปกรณ์ ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วย

(ก) เครื่องมือตรวจสอบสภาพพื้นถังเก็บน้ำมัน (tank flaw scan)

(ข) เครื่องตรวจวัดความหนาของถังเก็บน้ำมัน (ultrasonic thickness measurement)

(ค) เครื่องตรวจวัดความแข็งของถังเก็บน้ำมัน (hardness tester)

(ง) เครื่องตรวจวัดความลึก (depth gauge)

(จ) เครื่องมือตรวจสอบความดิ่งของผนังถัง (plumbness)

(ฉ) เครื่องมือตรวจสอบการทรุดตัว (surveyor’s level)

(ช) เทปวัดระยะชนิดเหล็ก (steel tape)

(3) เครื่องมือทดสอบสภาวะภายใต้ความดันของภาชนะบรรจุน้ำมัน และระบบท่อน้ำมันและอุปกรณ์ ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วย

(ก) เครื่องสูบอัดอากาศ (air compressor)

(ข) เครื่องสูบอัดน้ำ (pressure water pump)

(ค) มาตรวัดความดันมาตรฐาน (standard pressure gauge)

(ง) อุปกรณ์ปรับความดัน (pressure regulator)

(จ) เครื่องมือทดสอบอุปกรณ์นิรภัย (safety relief valve tester)

(4) เครื่องมือตรวจสอบระบบไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้า และระบบป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วย

(ก) เครื่องมือวัดแรงดันไฟฟ้า (volt meter)

(ข) เครื่องมือวัดกระแสไฟฟ้า (amp meter)

(ค) เครื่องมือวัดความต้านทานของหลักสายดิน (ground tester)

เครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบและตรวจสอบตามวรรคหนึ่งต้องมีเอกสารแสดงการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตลอดอายุหนังสือรับรองของผู้ทดสอบและตรวจสอบ และมีคู่มือการทำงาน รวมทั้งมีการบำรุงรักษาที่เหมาะสมและจำเป็น เพื่อให้การทดสอบและตรวจสอบเที่ยงตรงและมีประสิทธิภาพ

หมวด 3
คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ทดสอบและตรวจสอบ
และผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการทดสอบและตรวจสอบ
-----------------------

ข้อ 6 ผู้ทดสอบและตรวจสอบระดับที่ 1 ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

(1) เป็นนิติบุคคลมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วไม่น้อยกว่าสามล้านบาท และเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร

(2) ต้องจัดทำสัญญาประกันภัยและกรมธรรม์ประกันภัยมีอายุตลอดเวลาที่เป็นผู้ทดสอบและตรวจสอบ เพื่อคุ้มครองต่อชีวิตและร่างกายของบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้ทดสอบและตรวจสอบในวงเงินไม่น้อยกว่าหนึ่งแสนบาทต่อหนึ่งคน รวมทั้งคุ้มครองความเสียหายในทรัพย์สินของบุคคลอื่นในวงเงินไม่น้อยกว่าสองล้านบาท

(3) ไม่เป็นผู้เคยกระทำการฝ่าฝืนหลักเกณฑ์และวิธีการ ตลอดจนข้อปฏิบัติในการทดสอบและตรวจสอบ อันทำให้เกิดความเสียหายต่อความน่าเชื่อถือของการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการทดสอบและตรวจสอบ หรือเกิดอันตรายแก่มนุษย์ ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อม

(4) ไม่เป็นผู้ถูกเพิกถอนหนังสือรับรองที่ออกให้ตามกฎกระทรวงนี้ ซึ่งยังไม่พ้นระยะเวลาสามปีนับแต่วันที่ถูกเพิกถอน

(5) มีผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการทดสอบและตรวจสอบที่ปฏิบัติงานเป็นประจำให้แก่ผู้ทดสอบและตรวจสอบ ดังต่อไปนี้

(ก) หัวหน้าวิศวกรทดสอบ ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 9 (1) จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งคน

(ข) วิศวกรทดสอบ

1) วิศวกรทดสอบ ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 10 (1) (ก) 1) และ (ข) จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งคน

2) วิศวกรทดสอบ ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 10 (1) (ก) 2) และ 3) และ (ข) จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งคน

(6) มีเครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบและตรวจสอบตามข้อ 5 วรรคหนึ่ง (3) และ (4) จำนวนอย่างน้อยหนึ่งชุด

(7) มีเครื่องหมายแสดงการทดสอบและตรวจสอบ โดยจะกำหนดเป็นตัวอักษร ตัวเลข ภาพหรือเครื่องหมายอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้

ในกรณีที่ผู้ทดสอบและตรวจสอบไม่ประสงค์จะดำเนินการตรวจสอบที่ตั้ง ลักษณะและระยะปลอดภัยของสถานที่ประกอบกิจการน้ำมันหรือระบบไฟฟ้า จะไม่มีวิศวกรทดสอบตาม (5) (ข) 2) หรือเครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบและตรวจสอบตามข้อ 5 วรรคหนึ่ง (4) ก็ได้

ข้อ 7 ผู้ทดสอบและตรวจสอบระดับที่ 2 ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

(1) เป็นนิติบุคคลมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วไม่น้อยกว่าห้าล้านบาท และเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร

(2) ต้องจัดทำสัญญาประกันภัยและกรมธรรม์ประกันภัยมีอายุตลอดเวลาที่เป็นผู้ทดสอบและตรวจสอบ เพื่อคุ้มครองต่อชีวิตและร่างกายของบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้ทดสอบและตรวจสอบในวงเงินไม่น้อยกว่าหนึ่งแสนบาทต่อหนึ่งคน รวมทั้งคุ้มครองความเสียหายในทรัพย์สินของบุคคลอื่นในวงเงินไม่น้อยกว่าสามล้านบาท

(3) ไม่เป็นผู้เคยกระทำการฝ่าฝืนหลักเกณฑ์และวิธีการ ตลอดจนข้อปฏิบัติในการทดสอบและตรวจสอบ อันทำให้เกิดความเสียหายต่อความน่าเชื่อถือของการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการทดสอบและตรวจสอบ หรือเกิดอันตรายแก่มนุษย์ ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อม

(4) ไม่เป็นผู้ถูกเพิกถอนหนังสือรับรองที่ออกให้ตามกฎกระทรวงนี้ ซึ่งยังไม่พ้นระยะเวลาสามปีนับแต่วันที่ถูกเพิกถอน

(5) มีผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการทดสอบและตรวจสอบที่ปฏิบัติงานเป็นประจำให้แก่ผู้ทดสอบและตรวจสอบ ดังต่อไปนี้

(ก) หัวหน้าวิศวกรทดสอบ ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 9 (2) จำนวนไม่น้อยกว่าสองคน

(ข) วิศวกรทดสอบ

1) วิศวกรทดสอบ ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 10 (2) (ก) 1) และ (ข) จำนวนไม่น้อยกว่าสองคน

2) วิศวกรทดสอบ ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 10 (2) (ก) 2) และ 3) และ (ข) จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งคน

(ค) ผู้ชำนาญการทดสอบกรรมวิธีไม่ทำลายสภาพเดิม ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 11 (1) จำนวนไม่น้อยกว่าสองคน ซึ่งแต่ละคนผ่านการฝึกอบรมทั้ง 4 สาขาวิชา หรือในกรณีที่ผ่านการฝึกอบรมในสาขาวิชาหนึ่งสาขาวิชาใด ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าแปดคน โดยมีผู้ผ่านการฝึกอบรมในแต่ละสาขาวิชาจำนวนไม่น้อยกว่าสองคน

(6) มีเครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบและตรวจสอบตามข้อ 5 ทุกประเภท จำนวนอย่างน้อยหนึ่งชุด

(7) มีเครื่องหมายแสดงการทดสอบและตรวจสอบ โดยจะกำหนดเป็นตัวอักษร ตัวเลข ภาพหรือเครื่องหมายอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้

ในกรณีที่ผู้ทดสอบและตรวจสอบไม่ประสงค์จะดำเนินการตรวจสอบที่ตั้ง ลักษณะและระยะปลอดภัยของสถานที่ประกอบกิจการน้ำมันหรือระบบไฟฟ้า จะไม่มีวิศวกรทดสอบตาม (5) (ข) 2) หรือเครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบและตรวจสอบตามข้อ 5 วรรคหนึ่ง (4) ก็ได้

ข้อ 8 ผู้ทดสอบและตรวจสอบระดับที่ 3 ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(1) เป็นนิติบุคคลมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วไม่น้อยกว่าสิบล้านบาท และเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร

(2) ต้องจัดทำสัญญาประกันภัยและกรมธรรม์ประกันภัยมีอายุตลอดเวลาที่เป็นผู้ทดสอบและตรวจสอบ เพื่อคุ้มครองต่อชีวิตและร่างกายของบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้ทดสอบและตรวจสอบในวงเงินไม่น้อยกว่าหนึ่งแสนบาทต่อหนึ่งคน รวมทั้งคุ้มครองความเสียหายในทรัพย์สินของบุคคลอื่นในวงเงินไม่น้อยกว่าห้าล้านบาท

(3) ไม่เป็นผู้เคยกระทำการฝ่าฝืนหลักเกณฑ์และวิธีการ ตลอดจนข้อปฏิบัติในการทดสอบและตรวจสอบ อันทำให้เกิดความเสียหายต่อความน่าเชื่อถือของการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการทดสอบและตรวจสอบ หรือเกิดอันตรายแก่มนุษย์ ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อม

(4) ไม่เป็นผู้ถูกเพิกถอนหนังสือรับรองที่ออกให้ตามกฎกระทรวงนี้ ซึ่งยังไม่พ้นระยะเวลาสามปีนับแต่วันที่ถูกเพิกถอน

(5) มีผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการทดสอบและตรวจสอบที่ปฏิบัติงานเป็นประจำให้แก่ผู้ทดสอบและตรวจสอบ ดังต่อไปนี้

(ก) หัวหน้าวิศวกรทดสอบ ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 9 (3) จำนวนไม่น้อยกว่าสองคน

(ข) วิศวกรทดสอบ

1) วิศวกรทดสอบ ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 10 (3) (ก) 1) และ (ข) จำนวนไม่น้อยกว่าสามคน

2) วิศวกรทดสอบ ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 10 (3) (ก) 2) และ 3) และ (ข) จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งคน

(ค) ผู้ชำนาญการทดสอบกรรมวิธีไม่ทำลายสภาพเดิม ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 11 (2) (ก) 1) และ (ข) จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งคน

(ง) ผู้ชำนาญการทดสอบกรรมวิธีไม่ทำลายสภาพเดิม ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 11 (2) (ก) 2) และ (ข) จำนวนไม่น้อยกว่าสองคน ซึ่งแต่ละคนผ่านการฝึกอบรมทั้ง 4 สาขาวิชา หรือในกรณีที่ผ่านการฝึกอบรมในสาขาวิชาหนึ่งสาขาวิชาใด ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าแปดคน โดยมีผู้ผ่านการฝึกอบรมในแต่ละสาขาวิชาจำนวนไม่น้อยกว่าสองคน

(จ) ผู้ชำนาญการทดสอบและตรวจสอบถังเก็บน้ำมัน ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 12 จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งคน

(6) มีเครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบและตรวจสอบตามข้อ 5 ทุกประเภท จำนวนอย่างน้อยสองชุดเว้นแต่เครื่องมือตรวจสอบสภาพพื้นถังเก็บน้ำมัน (tank flaw scan) มีจำนวนอย่างน้อยหนึ่งชุด

(7) มีเครื่องหมายแสดงการทดสอบและตรวจสอบ โดยจะกำหนดเป็นตัวอักษร ตัวเลข ภาพหรือเครื่องหมายอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้

ในกรณีที่ผู้ทดสอบและตรวจสอบไม่ประสงค์จะดำเนินการตรวจสอบที่ตั้ง ลักษณะและระยะปลอดภัยของสถานที่ประกอบกิจการน้ำมันหรือระบบไฟฟ้า จะไม่มีวิศวกรทดสอบตาม (5) (ข) 2) หรือเครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบและตรวจสอบตามข้อ 5 วรรคหนึ่ง (4) ก็ได้

ข้อ 9 หัวหน้าวิศวกรทดสอบต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(1) หัวหน้าวิศวกรทดสอบของผู้ทดสอบและตรวจสอบระดับที่ 1

(ก) เป็นวิศวกร ระดับสามัญวิศวกร สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกรมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปี หรือระดับวุฒิวิศวกร สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร

(ข) เป็นผู้มีความรู้ ความชำนาญ และประสบการณ์ในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการทดสอบและตรวจสอบอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

1) เคยปฏิบัติงานเกี่ยวกับการทดสอบและตรวจสอบภาชนะบรรจุน้ำมัน หรือภาชนะรับความดัน ระบบท่อและอุปกรณ์ มาแล้วไม่น้อยกว่าสองปี

2) ได้รับใบรับรองให้เป็นผู้ปฏิบัติงานในหน้าที่หัวหน้าควบคุมการทดสอบ ตามประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง คุณสมบัติและคุณวุฒิของผู้ทดสอบและตรวจสอบถังก๊าซหุงต้ม ถังเก็บและจ่ายก๊าซ ถังขนส่งก๊าซ ระบบท่อก๊าซและอุปกรณ์ และการออกใบรับรองให้เป็นผู้ทดสอบและตรวจสอบ ลงวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2546 หรือได้รับใบรับรองให้เป็นผู้ปฏิบัติงานในหน้าที่วิศวกรทดสอบตามประกาศดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปี

3) เป็นผู้ควบคุมการทดสอบของวิศวกรทดสอบและตรวจสอบตามประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง คุณสมบัติและคุณวุฒิของวิศวกรทดสอบและตรวจสอบถังเก็บและจ่ายก๊าซถังขนส่งก๊าซ ระบบท่อก๊าซ และอุปกรณ์ก๊าซธรรมชาติ ลงวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2547 หรือในกรณีที่เป็นวิศวกรทดสอบตามประกาศดังกล่าวจะต้องปฏิบัติงานมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปี

4) เป็นผู้ควบคุมการทดสอบและตรวจสอบของวิศวกรทดสอบและตรวจสอบตามประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง การขึ้นทะเบียนวิศวกรออกแบบ และการออกใบรับรองวิศวกรทดสอบและตรวจสอบ พ.ศ. 2550 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 หรือในกรณีที่เป็นผู้ทดสอบและตรวจสอบตามประกาศดังกล่าวจะต้องปฏิบัติงานมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปี

(ค) ไม่เป็นผู้มีร่างกายพิการจนเป็นที่เห็นว่าไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วยความเหมาะสม

(ง) ไม่เป็นคนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

(จ) ไม่เป็นผู้เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

(ฉ) ไม่เป็นผู้ถูกเพิกถอนหนังสือรับรองเป็นผู้ปฏิบัติงานในการทดสอบและตรวจสอบซึ่งยังไม่พ้นระยะเวลาสามปีนับแต่วันที่ถูกเพิกถอน

(2) หัวหน้าวิศวกรทดสอบของผู้ทดสอบและตรวจสอบระดับที่ 2

(ก) เป็นวิศวกร ระดับสามัญวิศวกร สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกรมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปี หรือระดับวุฒิวิศวกร สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร

(ข) เป็นผู้มีความรู้ ความชำนาญ และประสบการณ์ในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการทดสอบและตรวจสอบอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

1) เคยปฏิบัติงานเกี่ยวกับการทดสอบและตรวจสอบภาชนะบรรจุน้ำมัน หรือภาชนะรับความดัน ระบบท่อและอุปกรณ์ มาแล้วไม่น้อยกว่าสองปี

2) ได้รับใบรับรองให้เป็นผู้ปฏิบัติงานในหน้าที่หัวหน้าควบคุมการทดสอบของผู้ทดสอบและตรวจสอบประเภทที่ 1 หรือประเภทที่ 2 ตามประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง คุณสมบัติและคุณวุฒิของผู้ทดสอบและตรวจสอบถังก๊าซหุงต้ม ถังเก็บและจ่ายก๊าซ ถังขนส่งก๊าซ ระบบท่อก๊าซและอุปกรณ์ และการออกใบรับรองให้เป็นผู้ทดสอบและตรวจสอบ ลงวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2546 หรือได้รับใบรับรองให้เป็นผู้ปฏิบัติงานในหน้าที่วิศวกรทดสอบตามประกาศดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปี

3) เป็นผู้ควบคุมการทดสอบของวิศวกรทดสอบและตรวจสอบตามประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง คุณสมบัติและคุณวุฒิของวิศวกรทดสอบและตรวจสอบถังเก็บและจ่ายก๊าซถังขนส่งก๊าซ ระบบท่อก๊าซ และอุปกรณ์ก๊าซธรรมชาติ ลงวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2547 หรือในกรณีที่เป็นวิศวกรทดสอบตามประกาศดังกล่าวจะต้องปฏิบัติงานมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปี

4) เป็นผู้ควบคุมการทดสอบและตรวจสอบของวิศวกรทดสอบและตรวจสอบประเภทที่ 1 หรือประเภทที่ 2 ตามประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง การขึ้นทะเบียนวิศวกรออกแบบและการออกใบรับรองวิศวกรทดสอบและตรวจสอบ พ.ศ. 2550 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 หรือในกรณีที่เป็นผู้ทดสอบและตรวจสอบตามประกาศดังกล่าวจะต้องปฏิบัติงานมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปี

(ค) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ใน (1) (ค) (ง) (จ) และ (ฉ)

(3) หัวหน้าวิศวกรทดสอบของผู้ทดสอบและตรวจสอบระดับที่ 3

(ก) เป็นวิศวกร ระดับสามัญวิศวกร สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกรมาแล้วไม่น้อยกว่าเจ็ดปี หรือระดับวุฒิวิศวกร สาขาวิศวกรรมเครื่องกลตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร

(ข) เป็นผู้มีความรู้ ความชำนาญ และประสบการณ์ในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการทดสอบและตรวจสอบอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

1) เคยปฏิบัติงานเกี่ยวกับการทดสอบและตรวจสอบภาชนะบรรจุน้ำมัน หรือภาชนะรับความดัน ระบบท่อและอุปกรณ์ มาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี

2) เป็นผู้ได้รับใบรับรองให้เป็นผู้ปฏิบัติงานในหน้าที่หัวหน้าควบคุมการทดสอบของผู้ทดสอบและตรวจสอบประเภทที่ 1 ตามประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง คุณสมบัติและคุณวุฒิของผู้ทดสอบและตรวจสอบถังก๊าซหุงต้ม ถังเก็บและจ่ายก๊าซ ถังขนส่งก๊าซ ระบบท่อก๊าซ และอุปกรณ์และการออกใบรับรองให้เป็นผู้ทดสอบและตรวจสอบ ลงวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2546 หรือได้รับใบรับรองให้เป็นผู้ปฏิบัติงานในหน้าที่วิศวกรทดสอบตามประกาศดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี

3) เป็นผู้ควบคุมการทดสอบของวิศวกรทดสอบและตรวจสอบตามประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง คุณสมบัติและคุณวุฒิของวิศวกรทดสอบและตรวจสอบถังเก็บและจ่ายก๊าซถังขนส่งก๊าซ ระบบท่อก๊าซ และอุปกรณ์ก๊าซธรรมชาติ ลงวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2547 หรือในกรณีที่เป็นวิศวกรทดสอบตามประกาศดังกล่าว จะต้องปฏิบัติงานมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี

4) เป็นผู้ควบคุมการทดสอบและตรวจสอบของวิศวกรทดสอบและตรวจสอบประเภทที่ 1 ตามประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง การขึ้นทะเบียนวิศวกรออกแบบ และการออกใบรับรองวิศวกรทดสอบและตรวจสอบ พ.ศ. 2550 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 หรือในกรณีที่เป็นผู้ทดสอบและตรวจสอบตามประกาศดังกล่าว จะต้องปฏิบัติงานมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี

(ค) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ใน (1) (ค) (ง) (จ) และ (ฉ)

ข้อ 10 วิศวกรทดสอบต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(1) วิศวกรทดสอบของผู้ทดสอบและตรวจสอบระดับที่ 1

(ก) เป็นวิศวกร ระดับหนึ่งระดับใดในสาขาหนึ่งสาขาใด ดังต่อไปนี้

1) ระดับไม่ต่ำกว่าระดับภาคีวิศวกร สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร

2) ระดับไม่ต่ำกว่าระดับภาคีวิศวกร สาขาวิศวกรรมโยธา ตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร

3) ระดับไม่ต่ำกว่าระดับภาคีวิศวกร สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร

(ข) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในข้อ 9 (1) (ค) (ง) (จ) และ (ฉ)

(2) วิศวกรทดสอบของผู้ทดสอบและตรวจสอบระดับที่ 2

(ก) เป็นวิศวกร ระดับหนึ่งระดับใดในสาขาหนึ่งสาขาใด ดังต่อไปนี้

1) ระดับไม่ต่ำกว่าระดับภาคีวิศวกร สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร

2) ระดับไม่ต่ำกว่าระดับภาคีวิศวกร สาขาวิศวกรรมโยธา ตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร

3) ระดับไม่ต่ำกว่าระดับภาคีวิศวกร สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร

(ข) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในข้อ 9 (1) (ค) (ง) (จ) และ (ฉ)

(3) วิศวกรทดสอบของผู้ทดสอบและตรวจสอบระดับที่ 3

(ก) เป็นวิศวกร ระดับหนึ่งระดับใดในสาขาหนึ่งสาขาใด ดังต่อไปนี้

1) ระดับไม่ต่ำกว่าระดับภาคีวิศวกร สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร

2) ระดับไม่ต่ำกว่าระดับสามัญวิศวกร สาขาวิศวกรรมโยธา ตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร

3) ระดับไม่ต่ำกว่าระดับสามัญวิศวกร สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร

(ข) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในข้อ 9 (1) (ค) (ง) (จ) และ (ฉ)

ข้อ 11 ผู้ชำนาญการทดสอบกรรมวิธีไม่ทำลายสภาพเดิมต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

(1) ผู้ชำนาญการทดสอบกรรมวิธีไม่ทำลายสภาพเดิมของผู้ทดสอบและตรวจสอบระดับที่ 2

(ก) ผ่านการฝึกอบรมภายใต้หลักสูตรของ The American Society for Nondestructive Testing (ASNT) หรือ American Welding Society (AWS) หรือ Welding Institute Society (WIT) หรือ The Japanese Society for Non-Destructive Inspection (JSNDI) หรือ The British Institute of Non-Destructive Testing (BINDT) หรือ International Institute of Welding (IIW) หรือสถาบันอื่นที่อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานประกาศกำหนดใน 4 สาขาวิชา ได้แก่ การทดสอบด้วยรังสี การทดสอบด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง การทดสอบด้วยอนุภาคแม่เหล็ก และการทดสอบด้วยสารแทรกซึม หรือในสาขาวิชาหนึ่งสาขาวิชาใดไม่ต่ำกว่าระดับสอง

(ข) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในข้อ 9 (1) (ค) (ง) (จ) และ (ฉ)

(2) ผู้ชำนาญการทดสอบกรรมวิธีไม่ทำลายสภาพเดิมของผู้ทดสอบและตรวจสอบระดับที่ 3

(ก) ผ่านการฝึกอบรมในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้

1) ผ่านการฝึกอบรมภายใต้หลักสูตรของ The American Society for Nondestructive Testing (ASNT) หรือ American Welding Society (AWS) หรือ Welding Institute Society (WIT) หรือ The Japanese Society for Non-Destructive Inspection (JSNDI) หรือ The British Institute of Non-Destructive Testing (BINDT) หรือ International Institute of Welding (IIW) หรือสถาบันอื่นที่อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานประกาศกำหนดใน 4 สาขาวิชา ได้แก่ การทดสอบด้วยรังสี การทดสอบด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง การทดสอบด้วยอนุภาคแม่เหล็ก และการทดสอบด้วยสารแทรกซึม หรือในสาขาวิชาหนึ่งสาขาวิชาใดไม่ต่ำกว่าระดับสาม

2) ผ่านการฝึกอบรมภายใต้หลักสูตรของ The American Society for Nondestructive Testing (ASNT) หรือ American Welding Society (AWS) หรือ Welding Institute Society (WIT) หรือ The Japanese Society for Non-Destructive Inspection (JSNDI) หรือ The British Institute of Non-Destructive Testing (BINDT) หรือ International Institute of Welding (IIW) หรือสถาบันอื่นที่อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานประกาศกำหนดใน 4 สาขาวิชา ได้แก่ การทดสอบด้วยรังสี การทดสอบด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง การทดสอบด้วยอนุภาคแม่เหล็ก และการทดสอบด้วยสารแทรกซึม หรือในสาขาวิชาหนึ่งสาขาวิชาใดไม่ต่ำกว่าระดับสอง

(ข) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในข้อ 9 (1) (ค) (ง) (จ) และ (ฉ)

ข้อ 12 ผู้ชำนาญการทดสอบและตรวจสอบถังเก็บน้ำมันต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(1) ผ่านการฝึกอบรมตามมาตรฐาน API-653 จาก American Petroleum Institute หรือมาตรฐาน EEMUA 159 จาก The Engineering Equipment and Materials Users’ Association หรือสถาบันอื่นที่อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานประกาศกำหนด

(2) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในข้อ 9 (1) (ค) (ง) (จ) และ (ฉ)

หมวด 4
หนังสือรับรองเป็นผู้ทดสอบและตรวจสอบ
และผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการทดสอบและตรวจสอบ
-----------------------

ข้อ 13 เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลการปฏิบัติการทดสอบและตรวจสอบให้เป็นไปโดยถูกต้อง มีประสิทธิภาพ ผู้ใดประสงค์จะเป็นผู้ทดสอบและตรวจสอบ หรือปฏิบัติงานเป็นหัวหน้าวิศวกรทดสอบ วิศวกรทดสอบ ผู้ชำนาญการทดสอบกรรมวิธีไม่ทำลายสภาพเดิม หรือผู้ชำนาญการทดสอบและตรวจสอบถังเก็บน้ำมัน ให้ยื่นคำขอหนังสือรับรองตามแบบที่อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานประกาศกำหนด พร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบดังกล่าว ต่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน

ข้อ 14 เมื่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงานพิจารณาคำขอและเอกสารหรือหลักฐานประกอบคำขอแล้วเห็นว่า ผู้ยื่นคำขอเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ให้ออกหนังสือรับรองตามแบบที่อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานประกาศกำหนดไว้เป็นหลักฐาน

ในการพิจารณาออกหนังสือรับรองเป็นผู้ทดสอบและตรวจสอบ เครื่องมือของผู้ทดสอบและตรวจสอบที่ใช้ในการทดสอบและตรวจสอบต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมธุรกิจพลังงานว่ามีสภาพการใช้งานได้ดี

ข้อ 15 หนังสือรับรองที่ออกให้ตามข้อ 14 ให้มีอายุสามปี

ข้อ 16 ผู้รับหนังสือรับรองซึ่งประสงค์จะขอต่ออายุหนังสือรับรอง ให้ยื่นคำขอต่ออายุหนังสือรับรองภายในหกสิบวันก่อนวันที่หนังสือรับรองสิ้นอายุ และเมื่อได้ยื่นคำขอต่ออายุหนังสือรับรองแล้วให้ปฏิบัติการทดสอบและตรวจสอบต่อไปได้โดยถือว่าเป็นผู้รับหนังสือรับรองจนกว่าจะได้รับแจ้งคำสั่งไม่อนุญาตให้ต่ออายุหนังสือรับรองจากอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน

ข้อ 17 ผู้รับหนังสือรับรองต้องปฏิบัติหน้าที่ในการทดสอบและตรวจสอบให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ หลักเกณฑ์ และวิธีการ ตลอดจนข้อปฏิบัติที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง และประกาศที่เกี่ยวข้อง

ในกรณีที่ผู้รับหนังสือรับรองเป็นผู้ทดสอบและตรวจสอบต้องปฏิบัติเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้

(1) ตรวจสอบเครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบและตรวจสอบให้มีความเที่ยงตรงตามข้อกำหนดของเครื่องมือ เว้นแต่มาตรวัดความดันมาตรฐาน (standard pressure gauge) ให้ทำการสอบเทียบตามมาตรฐานทุกหกเดือน ทั้งนี้ การตรวจสอบดังกล่าวต้องมีเอกสารกำกับการตรวจสอบเครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบและตรวจสอบทุกครั้งที่ทำการตรวจสอบ และต้องแจ้งให้กรมธุรกิจพลังงานทราบภายในเวลาอันสมควร

(2) มีเครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบและตรวจสอบครบถ้วนตามจำนวนที่กำหนดไว้ในหมวด 3 ตลอดอายุหนังสือรับรองของผู้ทดสอบและตรวจสอบ และทุกปีต้องยื่นคำขอต่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงานให้ตรวจสอบเครื่องมือดังกล่าวว่ามีสภาพการใช้งานได้ดี

ข้อ 18 ในกรณีที่ผู้รับหนังสือรับรองฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ 17 อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานมีอำนาจสั่งเพิกถอนหนังสือรับรองที่ออกให้

ผู้ถูกเพิกถอนหนังสือรับรองตามวรรคหนึ่งจะขอหนังสือรับรองอีกไม่ได้ จนกว่าจะพ้นสามปีนับแต่วันที่ถูกเพิกถอน เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดนั้น

หมวด 5
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการทดสอบและตรวจสอบ
-----------------------

ข้อ 19 หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตลอดจนข้อปฏิบัติในการทดสอบและตรวจสอบให้เป็นไปตามข้อกำหนดในกฎกระทรวงเฉพาะเรื่อง และตามที่อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานประกาศกำหนด

ข้อ 20 ผู้ทดสอบและตรวจสอบต้องดำเนินการทดสอบและตรวจสอบเองโดยไม่จัดจ้างผู้อื่นรับจ้างเหมาช่วงดำเนินการแทน และต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยเป็นผู้ออกแบบ ผู้ก่อสร้าง หรือผู้ผลิตสิ่งที่จะทำการทดสอบและตรวจสอบ หรือเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือเป็นผู้ถือหุ้นหรือกรรมการในบริษัทจำกัด ซึ่งเป็นผู้ออกแบบ ผู้ก่อสร้าง หรือผู้ผลิตสิ่งที่จะทำการทดสอบและตรวจสอบ

ข้อ 21 ผู้ทดสอบและตรวจสอบของผู้ประกอบกิจการควบคุมจะดำเนินการทดสอบและตรวจสอบของตนเองไม่ได้ เว้นแต่ในกรณีผู้ทดสอบและตรวจสอบของผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 จะดำเนินการทดสอบและตรวจสอบของตนเองได้เฉพาะการทดสอบและตรวจสอบเพื่อต่ออายุใบอนุญาตประจำปีและการตรวจสอบตามวาระเท่านั้น

ข้อ 22 ให้ผู้ประกอบกิจการควบคุมที่จะจัดให้มีการทดสอบและตรวจสอบแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้รับแจ้งหรือผู้อนุญาตทราบล่วงหน้าก่อนที่จะจัดให้มีการทดสอบและตรวจสอบไม่น้อยกว่าสิบห้าวันทำการ

ข้อ 23 ในการทดสอบและตรวจสอบแต่ละครั้ง ผู้ทดสอบและตรวจสอบต้องจัดให้มีหัวหน้าวิศวกรทดสอบหรือวิศวกรทดสอบที่ได้รับมอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษรจากหัวหน้าวิศวกรทดสอบ ปฏิบัติงานตลอดเวลาที่ดำเนินการทดสอบและตรวจสอบโดยอยู่ในการควบคุมของพนักงานเจ้าหน้าที่

ข้อ 24 เมื่อทำการทดสอบและตรวจสอบเสร็จ ให้ประทับ ผนึก หรือปิดเครื่องหมายแสดงการทดสอบและตรวจสอบไว้ที่สิ่งที่ได้ทำการทดสอบและตรวจสอบ และเมื่อผู้ทดสอบและตรวจสอบได้จัดทำรายงานผลและรับรองผลการทดสอบและตรวจสอบแล้ว ให้ผู้ประกอบกิจการควบคุมส่งรายงานผลการทดสอบและตรวจสอบให้ผู้รับแจ้งหรือผู้อนุญาตภายในสิบห้าวันทำการนับแต่วันที่ทำการทดสอบและตรวจสอบเสร็จสิ้น

บทเฉพาะกาล

-----------------------

ข้อ 25 ภายในระยะเวลาสองปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ ในกรณีที่ยังไม่มีผู้ทดสอบและตรวจสอบหรือมีแต่ไม่เพียงพอ การทดสอบและตรวจสอบให้ดำเนินการโดยผู้ประกอบกิจการควบคุมโดยอยู่ในการควบคุมของพนักงานเจ้าหน้าที่

                                            ให้ไว้ ณ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

                                                      พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล

                                                 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 7 (4) (5) และ (7) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 บัญญัติให้ออกกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติและการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง วิธีการปฏิบัติงาน และการจัดให้มีและบำรุงรักษาอุปกรณ์หรือเครื่องมืออื่นใดเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการเก็บรักษา การขนส่ง การใช้ การจำหน่าย การแบ่งบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิงของสถานที่เก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง และคลังน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งการควบคุมอื่นใดหรือกำหนดการอื่นใดอันจำเป็น ซึ่งการทดสอบและตรวจสอบน้ำมันเป็นการดำเนินการเกี่ยวกับการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง สมควรกำหนดคุณสมบัติของผู้ทดสอบและตรวจสอบน้ำมันและผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการทดสอบและตรวจสอบน้ำมัน และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการทดสอบและตรวจสอบน้ำมัน ตลอดจนการจัดให้มีและการบำรุงรักษาเครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบและตรวจสอบน้ำมัน จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

 

เล่ม 130 ตอนที่ 29 ก ราชกิจจานุเบกษา 27 มีนาคม 2556

 




กฎหมาย




Copyright © 2012 All Rights Reserved.


  

 

สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร | THE BUILDING INSPECTORS ASSOCIATION
เลขที่ 487 ซ.รามคำแหง 39 (เทพลีลา 1) ถ.รามคำแหง
แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ 10310
โทรศัพท์: 0-2184-4612   โทรสาร: 0-2184-4613
http://www.bsa.or.th