ReadyPlanet.com
dot
ฐานข้อมูลกรมโยธาธิการและผังเมือง
กฎหมายเกี่ยวกับตรวจสอบอาคาร
ศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถตามมาตรา ๒๖/๔ (๒) สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร




มาตรฐานความปลอดภัยทางไฟฟ้าในสถานที่ทำงาน (ตอนที่ 1)
วันที่ 01/08/2014   20:38:56

มาตรฐานความปลอดภัยทางไฟฟ้าในสถานที่ทำงาน

(ตอนที่ 1)

 

ความเป็นมา

การทำงานหรือปฏิบัติงานกับไฟฟ้าถือเป็นงานที่มีอันตรายสูง เนื่องจากมองไม่เห็นว่ามีไฟฟ้าหรือไม่ รวมถึงการปฏิบัติงานที่อาจผิดพลาด ผิดขั้นตอน และยังอาจมีผู้ร่วมปฏิบัติงานด้วยจำนวนมาก ซึ่งการผิดพลาดของคนหนึ่งอาจทำให้อีกคนหนึ่งได้รับอันตรายที่รุนแรงได้ และยังไม่มีมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานให้ใช้งาน ปัจจุบันมีร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า ซึ่งจะประกาศใช้ในเร็ว ๆ นี้ ในร่างกฎกระทรวงฯ ได้อ้างอิงถึงมาตรฐานของสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานกับไฟฟ้าไว้หลายส่วนด้วยกัน ดังนั้น วสท. จึงได้จัดทำเป็นมาตรฐานฯขึ้นใช้ชื่อว่า มาตรฐานความปลอดภัยทางไฟฟ้าในสถานที่ทำงาน และเมื่อกฎกระทรวงฯ มีผลบังคับใช้ก็จะมีมาตรฐานฯ ของ วสท. รองรับให้สถานประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องใช้อ้างอิง ปัจจุบันมาตรฐานความปลอดภัยฯ ผ่านการทำประชาพิจารณ์เพื่อขอความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว อยู่ระหว่างการตรวจสอบครั้งสุดท้ายและพิมพ์เป็นรูปเล่ม 
 

รูปที่ 1 ตัวอย่างอุบัติเหตุจากการทำงานกับไฟฟ้าที่ไม่ถูกต้อง

            เนื่องจากมาตรฐานฯ เป็นการเขียนในลักษณะของข้อกำหนด จึงอาจต้องตีความและทำความเข้าใจ และอาจไม่ตรงกันได้ แต่โดยหลักการของการใช้มาตรฐานฯ ทุกเรื่องนั้น ผู้ใช้มาตรฐานฯ จะต้องเป็นบุคคลที่ผ่านการอบรมและ/หรือมีความเข้าใจในมาตรฐานฯ เป็นอย่างดีแล้วเท่านั้น และกรณีไม่มั่นใจต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอความเห็น ผู้เขียนในฐานะประธานคณะอนุกรรมการจัดทำมาตรฐานความปลอดภัยทางไฟฟ้าในสถานที่ทำงาน จึงได้นำมาตรฐานมาเผยแพร่และเพิ่มคำอธิบายไว้ด้วยเพื่อความเข้าใจและนำไปปฏิบัติได้อย่างแท้จริง โดยส่วนที่เป็นเนื้อหาของมาตรฐานฯ จะใช้เป็นตัวอักษรบนพื้นสีเทา

 

ส่วนประกอบของมาตรฐาน

            มาตรฐานความปลอดภัยฯ ประกอบด้วยเนื้อเรื่องจำนวน 3 บทคือ บทที่ 1 ข้อปฏิบัติการทำงานด้วยความปลอดภัย บทที่ 2 ขัอกำหนดการบำรุงรักษาที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย และ บทที่ 3 ข้อกำหนดความต้องการความปลอดภัยสำหรับอุปกรณ์พิเศษ ตามที่แสดงในรูปที่ 2 

 

รูปที่ 2 ส่วนประกอบของมาตรฐาน

 

บทที่ 1 ข้อปฏิบัติในการทำงานด้วยความปลอดภัย

            ขอบเขต ในบทนี้ครอบคลุมเนื้อหา ข้อปฏิบัติ และข้อกำหนดการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้าด้วยความปลอดภัย สำหรับผู้ปฏิบัติงานที่ปฏิบัติงานกับตัวนำหรือชิ้นส่วนของวงจรที่มีไฟและไม่มีการปิดหุ้ม หรือปฏิบัติงานบริเวณใกล้เคียงกับส่วนที่มีไฟฟ้าภายในสถานที่ทำงาน ซึ่งนายจ้างและผู้ปฏิบัติงาน ต้องนำข้อกำหนดในบทนี้ไปประยุกต์ใช้  แต่อย่างไรก็ตาม วงจรไฟฟ้าและอุปกรณ์ ซึ่งขอบเขตของมาตรฐานนี้มิได้กล่าวถึง ก็อาจเป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานผู้ซึ่งไม่มีคุณสมบัติซึ่งเข้าไปทำงานใกล้กับบริเวณนั้นได้เช่นกัน นายจ้างและผู้ปฏิบัติงานก็ต้องระมัดระวังและมีมาตรการที่เหมาะสมด้วย ข้อกำหนดต่าง ๆ ที่ระบุในบทนี้ มีไว้เพื่อคุ้มครองมิให้ผู้ปฏิบัติงานผู้ไม่มีคุณสมบัติได้รับอันตรายดังกล่าวด้วย

จุดประสงค์ เพื่อเป็นการทำให้สถานที่ปฏิบัติงานมีความปลอดภัยสำหรับผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับอันตรายจากไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจากการเข้าไปทำงานในพื้นที่

            ก่อนที่จะลงในรายละเอียดของตัวมาตรฐาน ผู้เขียนจะขออธิบายแนวคิดและหลักพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการเกิดอันตรายและหลักการป้องกันก่อน เพื่อความเข้าใจมากขึ้นและให้สามารถทำความเข้าใจกับตัวมาตรฐานฯ ได้ง่ายขึ้น

        

แนวคิดเรื่องของอุบัติเหตุ

            

รูปที่ 3 ภูเขาน้ำแข็งของความสูญเสียจากอุบัติเหตุ

 

            อุบัติเหตุหมายถึงความสูญเสีย ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของการบาดเจ็บ การสูญเสียชีวิต ทรัพย์สินเสียหาย ค่ารักษาพยาบาล เงินชดเชย ประกันภัย และความสูญเสียทางอ้อมอื่น ๆ สามารถเปรียบเทียบการสูญเสียในรูปของภูเขาน้ำแข็งที่ลอยในน้ำได้ ส่วนของภูเขาที่มองเห็นเทียบได้กับความสูญเสียที่มองเห็นเช่น ค่ารักษาพยาบาล และค่าชดเชย สำหรับส่วนของภูเขาน้ำแข็งที่จมในน้ำเปรียบได้กับความสูญเสียทางอ้อมที่มักมองไม่เห็นที่มีอยู่จำนวนมากเช่น ทรัพย์สินเสียหาย เครื่องมือเสียหาย ผลผลิตเสียหาย ค่าทำงานล่วงเวลา และค่าสูญเสียการผลิต เป็นต้น ดังนั้นค่าความสูญเสียในส่วนที่มองเห็นนั้นถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับความสูญเสียส่วนที่มองไม่เห็น ในการจัดการด้านความปลอดภัย จึงต้องให้ความสำคัญกับความสูญเสียทั้งหมดของสถานประกอบการ

จากสถิติพบว่า มากกว่า 80% ของการเกิดอุบัติเหตุเกิดจากการขาดการจัดการที่ดี ในมาตรฐานฯ นี้จึงเน้นไปที่การจัดการเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องจึงประกอบด้วยนายจ้าง หัวหน้างาน และลูกจ้างหรือผู้ปฏิบัติงาน

 

เรียนรู้เรื่องการเกิดอันตรายจากไฟฟ้า

            ลักษณะของการเกิดอันตรายจากไฟฟ้าเกิดได้ใน 3 ลักษณะคือ ไฟฟ้าดูด อาร์ก และการระเบิด

            ไฟฟ้าดูด คือการที่บุคคลมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านร่างกาย ไฟฟ้าดูดเกิดได้ทั้งกับบุคคลหรือสิ่งมีชีวิติอื่น เมื่อร่างกายมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านจะมีอาการต่าง ๆ ตามปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ไหล เส้นทางที่กระแสไฟฟ้าไหลผ่าน และระยะเวลาที่ถูกไฟฟ้าดูด ผลกระทบของกระแสไฟฟ้าต่อร่างกายของแต่ละบุคคลอาจเปลี่ยนแปลงไปได้ไม่เหมือนกันในแต่ละคน แต่สามารถกำหนดเป็นค่าเฉลี่ยได้ ซึ่งในมาตรฐานความปลอดภัยฯ กำหนดไว้ ดังนี้

1. ผลของกระแสไฟฟ้ากระแสสลับ

(1) ขนาด 5 mA รับรู้ได้ว่าไฟดูด

(2) ขนาด 10 mA บุคคลอาจไม่สามารถหลุดออกไปพ้นจากอันตรายเนื่องจากไฟฟ้าดูดได้

(3) ขนาดประมาณ 40 mA ไฟดูด ถ้านาน 1 วินาที หรือมากกว่า อาจทำให้เสียชีวิตเนื่องจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ

(4) กระแสไฟฟ้าสูงมากกว่านี้ ทำให้เกิดแผลไหม้และหัวใจหยุดเต้น

2. ผลของไฟฟ้ากระแสตรง

(1) กระแสตรง 2 mA รับรู้ได้ว่าไฟดูด

(2) กระแสตรง 10 mA พิจารณาได้เป็นกระแสที่จะปล่อยหลุดได้

3. ผลของแรงดันไฟฟ้า แรงดันไฟฟ้า 30 V rms หรือ 60 V dc ถือว่าปลอดภัย ยกเว้นกรณีผิวหนังมีรอยแตก ความต้านทานภายในของร่างกายอาจมีค่าต่ำถึง 500 โอห์ม ดังนั้นอาจทำให้เสียชีวิตได้

4. ผลของการสัมผัสเวลาสั้น ๆ

(1) สำหรับการสัมผัสเป็นเวลาน้อยกว่า 0.1 วินาที และด้วยกระแสไฟฟ้าเกินกว่า 0.5 mA เล็กน้อย อาจเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ถ้าเกิดไฟฟ้าดูดอยู่ในช่องว่างของจังหวะการเต้นของหัวใจ

(2) สำหรับการสัมผัสเป็นเวลาน้อยกว่า 0.4 วินาที และด้วยปริมาณกระแสมาก ๆ อาจเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เมื่อไฟฟ้าที่ดูดนี้อยู่ในช่องว่างของจังหวะการเต้นของหัวใจ

(3) สำหรับการสัมผัสเป็นเวลาน้อยกว่า 0.8 วินาที และด้วยประมาณกระแสไฟฟ้าเกิน 0.5 A เล็กน้อย อาจเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น (กู้คืนกลับมาได้)

(4) สำหรับการสัมผัสเป็นเวลามากกว่า 0.8 วินาที และด้วยกระแสประมาณมาก ๆ อาจเกิดแผลไหม้และเสียชีวิต

5. ผลของความถี่เกิน 100 Hz กรณีขีดจำกัดความทนทานของการรับรู้เพิ่มขึ้นจาก 10 kHz ถึง 100 kHz ค่าขีดจำกัดการปล่อยหลุดเพิ่มขึ้นจาก 10 mA to 100 mA
 

รูปที่ 4 รูปผู้เสียชีวิตจากไฟฟ้าดูดเมื่อทำงานใกล้สายไฟฟ้าแรงสูงโดยไม่มีการป้องกันที่เหมาะสม

 

            อาร์กหรือประกายไฟ เกิดขึ้นเมื่อมีกระแสไฟฟ้าสูงและกำลังไฟฟ้าสูง การอาร์กเป็นการปล่อยไฟฟ้าออกสู่อากาศออกมาเป็นแสง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อมีแรงดันไฟฟ้าสูงตกคร่อมช่องว่างระหว่างตัวนำมีค่าสูงเกินค่าความคงทนของไดอิเล็กทริก (dielectric strength) ของอากาศ และมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านอากาศ  เหตุการณ์ดังกล่าวมักมีสาเหตุมาจากแรงดันสูงเช่น จากฟ้าผ่า จากการสวิตชิ่ง จากความชำรุดของอุปกรณ์เนื่องจากการใช้งานไม่ถูกต้อง เป็นต้น

อาร์กจะแผ่รังสีออกไปทำให้ผู้ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงได้รับอันตรายเกิดแผลไฟไหม้ที่รุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ รังสีความร้อนและแสงจ้า สามารถทำให้เกิดการไหม้ได้  ปัจจัยที่มีผลต่อระดับความรุนแรงของการบาดเจ็บมีหลายประการ เช่น สีผิว พื้นที่ของผิวหนังที่สัมผัส และชนิดของเสื้อผ้าที่สวม การลดความเสี่ยงของการไหม้ดังกล่าวสามารถทำได้โดยการใช้เสื้อผ้า มีระยะห่างในการทำงาน และ การป้องกันกระแสเกิน ที่เหมาะสม

อาร์กจากไฟฟ้าแรงสูงสามารถทำให้ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เป็นทองแดงและอะลูมิเนียมหลอมละลายได้ หยดโลหะหลอมเหลวดังกล่าวอาจถูกแรงระเบิดจากคลื่นความดันผลักให้กระเด็นไปเป็นระยะทางไกล ๆ ได้  ถึงแม้ว่าหยดโลหะเหล่านี้จะแข็งตัวอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังมีความร้อนเหลืออยู่มากพอที่จะทำให้เกิดการไหม้อย่างรุนแรงได้ หรือ ทำให้เสื้อผ้าปกติทั่วไปลุกติดไฟได้ แม้ว่าจะอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุมากกว่า 3 เมตร แล้วก็ตาม

การระเบิด ปกติการระเบิดมักจะเป็นสืบเนื่องจากการเกิดอาร์กในปริมาตรที่จำกัด เมื่อเกิดอาร์กอากาศที่ได้รับความร้อนจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว ถ้าการขยายตัวอยู่ในปริมาตรที่จำกัดและกล่องหรือเครื่องห่อหุ้มนั้นไม่สามารถทนได้ก็จะระเบิด การเกิดระเบิดจากอาร์กอาจมีอุณหภูมิสูงถึง 19,400 องศาเซลเซียส และแรงจากการระเบิดนี้สูงมากจนเป็นอันตรายต่อบุคคลได้ เนื่องจากความดันที่เกิดจากการอาร์กมีพลังงานสูง แต่ก็อาจจะโชคดีที่ความดันนี้ จะพัดพาร่างของผู้ประสบอันตรายหลุดลอยออกไปจากแหล่งความร้อน อย่างไรก็ตามผู้เคราะห์ร้ายอาจเสียชีวิตได้จากสาเหตุอื่น เช่น กระแทกกับของแข็ง หรือตกจากที่สูง แรงผลักนี้อาจรุนแรงมาก (ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการลัดวงจร) ทำให้ตู้หรือแผงสวิตช์ลอยกระเด็นไปได้ไกล ๆ 
 

รูปที่ 5 ตัวอย่างการระเบิดของหม้อแปลงไฟฟ้า

 

            จากอันตรายดังกล่าวซึ่งมีลักษณะการเกิดต่างกัน การป้องกันอันตรายจึงต้องใช้วิธีการและ/หรืออุปกรณ์ที่ต่างกัน ในการนำไปใช้ปฏิบัติจะต้องมีทั้ง วิธีการป้องกันและมาตรการในทางปฏิบัติ ควบคู่กันไปเพื่อให้การป้องกันครบถ้วนสมบูรณ์ พอสรุปได้ดังนี้

หลักการป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าดูด

ไฟฟ้าดูดคือการที่บุคคลมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านร่างกาย การที่กระแสไฟฟ้าจะไหลผ่านได้นั้นเพราะร่างกายสัมผัสกับส่วนที่มีไฟฟ้า แบ่งลักษณะการสัมผัสได้เป็น 2 แบบ ดังนี้

1. การสัมผัสโดยตรง (direct contact) คือการที่ร่างกายมนุษย์สัมผัสกับส่วนที่มีแรงดันไฟฟ้าโดยตรง เช่น มือจับสายไฟฟ้าส่วนที่มีแรงดันไฟฟ้า หรือส่วนของอุปกรณ์ที่เปิดโล่ง โดยเท้ายืนบนพื้นดิน ทำให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านร่างกายระหว่างมือกับเท้า เป็นการไหลครบวงจรทางไฟฟ้า

รูปที่ 6 ตัวอย่างการสัมผัสโดยตรง

(แหล่งที่มา: ลือชัย  ทองนิล, ความปลอดภัยทางไฟฟ้าในสถานประกอบการ)

 

          ในรูปที่ 6 สายอ่อนที่ต่อเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าฉนวนชำรุดมีไฟรั่ว เมื่อบุคคลสัมผัสจึงเกิดอันตรายจากไฟฟ้าดูด ถึงแม้ตัวเองจะสวมรองเท้าก็ตาม แต่เพราะแช่อยู่ในน้ำซึ่งเป็นสื่อไฟฟ้า

การป้องกันการสัมผัสโดยตรง เป็นการป้องกันเบื้องต้นที่จะต้องปฏิบัติในการใช้ไฟฟ้าหรือทำงานกับไฟฟ้า การป้องกันสามารถทำได้หลายวิธี โดยอาจเลือกวิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีก็ได้ตามความเหมาะสม  ดังนี้

·      หุ้มฉนวนส่วนที่มีไฟ  (insulation of live parts) เช่นการหุ้มฉนวนสายไฟฟ้า

·      ป้องกันโดยมีสิ่งกั้นหรือตู้ (barrier or enclosures) เช่นตู้หรือแผงสวิตช์

·      ป้องกันโดยมีสิ่งที่กีดขวาง (obstacles) เช่นลานหม้อแปลง

·      ยกให้อยู่ในระยะที่เอื้อมไม่ถึง (placing out of reach) เช่นติดตั้งสายบนเสาไฟฟ้า

·      ใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล (personnel protective equipment, PPE) เมื่อต้องทำงานกับไฟฟ้าขณะที่มีไฟ

·      ใช้เครื่องตัดไฟรั่ว เป็นการป้องกันเสริม 

หมายเหตุ เครื่องตัดไฟรั่วให้ใช้เป็นอุปกรณ์ป้องกันเสริมเนื่องจากอาจชำรุดได้ระหว่างการใช้งาน เมื่อชำรุดก็ไม่สามารถป้องกันได้

            2. การสัมผัสโดยอ้อม (indirect contact) คือการสัมผัสส่วนของอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ปกติไม่มีไฟ แต่อาจมีไฟได้เมื่อเครื่องใช้ไฟฟ้ารั่วหรือชำรุด โดยปกติเครื่องใช้หรือวัสดุอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เราสัมผัสจากการใช้งานตามปกติเป็นส่วนที่ถือว่าไม่มีไฟฟ้า เช่น ส่วนโครงโลหะของมอเตอร์ไฟฟ้า และโครงโลหะของหม้อหุงข้าวไฟฟ้า เป็นต้น แต่จากการชำรุดภายในของเครื่องใช้ไฟฟ้าทำให้มีไฟฟ้ารั่วออกมายังส่วนที่สัมผัส เมื่อมีการสัมผัสจะมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านร่างกายลงดิน ครบวงจรทางไฟฟ้า 


 

รูปที่ 7 ตัวอย่างการสัมผัสโดยอ้อมเนื่องจากไฟรั่วที่เครื่องซักผ้า

 

หลักการป้องกันอันตรายจากการสัมผัสโดยอ้อม มีดังนี้

·      มีการต่อลงดินเปลือกหุ้มที่เป็นตัวนำและมีเครื่องปลดวงจรอัตโนมัติ

·       ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดฉนวน 2 ชั้น หรือประเภท II (double insulation)

·      ใช้ในสถานที่ไม่เป็นสื่อตัวนำ (non-conducting location)

·      ใช้ระบบไฟฟ้าที่แยกจากกัน (electrical separation) หรือระบบไม่ต่อลงดิน

·      ใช้เครื่องตัดไฟรั่วเป็นการป้องกันเสริม 

 

การป้องกันอันตรายทั้งสัมผัสโดยตรงและสัมผัสโดยอ้อม มีอยู่ 2 วิธี ดังนี้

·      ใช้เครื่องใช้ที่มีแรงดันต่ำที่ไม่เกิน 50 V. (safety  extra-low  voltage หรือ  SELV) โดยต่อผ่านหม้อแปลง safety isolating transformer         

·      ใช้วิธีจำกัดพลังงาน  (limitation of discharge energy) วิธีนี้จะใช้วิธีจำกัดขนาดของกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านร่างกาย ให้อยู่ในระดับที่จะไม่ทำอันตรายต่อมนุษย์

 

หลักการป้องกันอันตรายจากอาร์กและการระเบิด

            อันตรายส่วนใหญ่เป็นอันตรายที่เกิดจากการทำงานกับหรือใกล้ส่วนที่มีไฟฟ้า โดยปกติผู้ปฏิบัติงานต้องพยายามหลีกเลี่ยงการทำงานในขณะที่มีไฟฟ้าหรืออยู่ในระยะห่างที่ปลอดภัย แต่ถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ จะต้องเลือกใช้อุปกรณ์ความปลอดภัยที่เหมาะสม และมีมาตรการความปลอดภัยที่ดีด้วย ตามตารางที่ 1
 

รูปที่ 8 ตัวอย่างอุปกรณ์ความปลอดภัยในงานไฟฟ้า

ตารางที่ 1 ตัวอย่างอุปกรณ์และมาตรการในทางปฏิบัติในป้องกันอันตรายจากไฟฟ้า

ลักษณะของอันตราย

การใช้อุปกรณ์

มาตรการในทางปฏิบัติ

(ใช้กับอันตรายทั้ง 3 แบบ)

ไฟฟ้าดูด

·    อุปกรณ์หุ้มฉนวนยางรวมทั้งถุงมือที่ใช้ร่วมกับหนัง แขนเสื้อยาง ผ้าห่มยาง ที่หุ้ม

·  เครื่องมือหุ้มฉนวน เมื่อทำงานใกล้ตัวนำที่มีไฟฟ้า

·  ดับไฟฟ้าทุกวงจรและสายตัวนำที่อยู่ในพื้นที่ทำงาน

·  จัดทำและปฏิบัติตามวิธีการ lockout/tagout

·  รักษาระยะห่างในการทำงานที่ปลอดภัยจากส่วนที่มีไฟฟ้า

·  ใช้อุปกรณ์ความปลอดภัยเฉพาะอย่าง

·  ปฏิบัติตามวิธีการและข้อกำหนดความปลอดภัย

·  ตรวจสอบอุปกรณ์ทั้งหมดอย่างระมัดระวังก่อนนำกลับไปใช้งาน การตรวจนี้รวมถึงเครื่องมือ อุปกรณ์ทดสอบ อุปกรณ์จ่ายไฟฟ้า และชุดต่อลงดินเพื่อความปลอดภัย

·  ดำเนินการให้มั่นใจว่าอุปกรณ์ที่ไม่มีไฟฟ้าได้มีการต่อลงดินแล้วอย่างเหมาะสม วิธีการนี้ใช้กับทั้งการต่อลงดินของระบบไฟฟ้าปกติและการต่อลงดินเพื่อความปลอดภัย

·  ออกแบบและทบทวนระบบการออกแบบให้มีความปลอดภัยในตัวเอง

ประกายไฟจากอาร์ก

·   สวมเครื่องนุ่งห่มชนิดทนไฟ

·   ใช้ชุดป้องกันประกายไฟ เมื่อทำงานใกล้จุดที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาร์กที่รุนแรง

·   ใช้เครื่องมือฮอทสติก (hot sticks) และอยู่ในระยะห่างเท่าที่จะทำได้

·   สวมใส่อุปกรณ์ปกป้องดวงตา

·   สวมถุงมือยางพร้อมหนัง และ/หรือถุงมือป้องกันประกายไฟ

ระเบิดจากอาร์ก

·    สวมเครื่องนุ่งห่มชนิดป้องกันประกายไฟ/เปลวไฟ เพื่อป้องกันการกระเด็นของโลหะที่หลอมละลาย

·      สวมเครื่องนุ่งห่มชนิดป้องกันประกายไฟ เมื่อที่ทำงานมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอาร์ก ซึ่งจะช่วยป้องกันกระเด็นของโลหะที่หลอมละลาย

 

มาตรการป้องกัน

            ชนิดของมาตรการที่ใช้ในการป้องกันอันตรายทั้ง 3 แบบ จากไฟฟ้านั้นมีส่วนที่คล้ายกัน ในตารางที่ 1 เป็นการรวมมาตรการการป้องกันต่าง ๆ ที่อาจนำมาใช้ได้ มีข้อสังเกตว่าข้อความในตารางที่ 1 เป็นเรื่องทั่ว ๆ ไป การเลือกวิธีการและอุปกรณ์จะต้องพิจารณาให้ละเอียดลงไปอีก ข้อควรระวังคือในแต่ละวิธีการที่กำหนด อาจไม่สามารถประยุกต์ใช้กับบางสถานการณ์ได้ แต่ละสถานประกอบการต้องกำหนดมาตรการของตนเองขึ้นมาใช้งานตามความเหมาะสม และผู้มีหน้าที่ก็จะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดด้วย ตัวอย่างมาตรการที่อาจไม่สามารถประยุกต์ใช้ได้ มีดังนี้

·        เมื่อมีการแก้ไขอุปกรณ์ การดับไฟฟ้าอาจไม่สามารถทำได้

·        การดับไฟฟ้าอาจก่อให้เกิดอันตรายที่ยอมรับไม่ได้ตามมา ตัวอย่างเช่น การดับไฟเป็นผลให้พัดลมระบายอากาศของสถานที่อันตรายหยุดทำงาน กรณีนี้พนักงานก็อาจต้องทำงานขณะที่มีไฟ

·        การดับไฟกับกระบวนการผลิตแบบต่อเนื่องเพื่อซ่อมอุปกรณ์ชิ้นเล็ก ๆ อาจไม่คุ้มค่าในทางเศรษฐศาสตร์

 

ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นความรู้พื้นฐานและหลักการเบื้องต้นเพื่อให้ทราบถึงลักษณะของการเกิดอันตรายจากไฟฟ้าและแนวทางการป้องกันที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถทำความเข้าใจกับตัวมาตรฐานความปลอดภัยฯ ได้ง่ายขึ้น ในตอนต่อไปจะได้ลงในรายละเอียดของตัวมาตรฐานฯ พร้อมคำอธิบายประกอบเพื่อความเข้าใจและสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้อย่างถูกต้อง

นายลือชัย  ทองนิล

·      รางวัล AFEO Honorary Member Award CAFEO 31 Jakarta, Indonesia 2013

·      กรรมการสภาวิศวกร (สมัยที่ 5)

·      ประธานสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า วสท. (พ.. 2554-2556)

·      ประธานคณะอนุกรรมการทดสอบความรู้ความชำนาญการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมระดับวุฒิวิศวกร สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า สภาวิศวกร

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




TIP

แบบเสริมเหล็กโครงสร้างบ้านปูนต้านแผ่นดินไหว ตอนที่ 2 วันที่ 01/08/2014   20:36:56
แบบเสริมเหล็กโครงสร้างบ้านปูนต้านแผ่นดินไหว ตอนที่ 1 วันที่ 01/08/2014   20:37:10
10 ข้อแนะนำการก่อสร้างบ้านในเขตเสี่ยงแผ่นดินไหว วันที่ 01/08/2014   20:37:23
เสริมแกร่งเสาอาคารเก่าต้านแผ่นดินไหว วันที่ 01/08/2014   20:37:35
วิเคราะห์ 5 สาเหตุหลักโครงสร้างเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวเชียงราย วันที่ 01/08/2014   20:37:48
ระดับความเสียหายของโครงสร้าง กฎ 4 ข้อก่อสร้างเสาในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหว วันที่ 01/08/2014   20:38:00
แนวทางจัดการโครงสร้างที่เสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวเชียงราย วันที่ 01/08/2014   20:38:12
ประเทศไทยเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวและสึนามิแค่ไหนและจะรับมืออย่างไร วันที่ 01/08/2014   20:38:26
หลักเกณฑ์ ราคากลางการจ้างที่ปรึกษา ของกระทรวงการคลัง วันที่ 16/05/2014   15:34:16
วิศวกรรมแห่งชาติ ๒๕๕๖ - การว่าจ้างวิศวกรที่ปรึกษา วันที่ 10/12/2013   09:47:14
วิศวกรรมแห่งชาติ ๒๕๕๖ - การคิดค่าบริการวิชาชีพวิศวกรรม วันที่ 10/12/2013   09:19:36
วิศวกรรมแห่งชาติ ๒๕๕๖ - มาตรฐานการให้บริการวิชาชีพวิศวกรรม วันที่ 08/12/2013   08:54:36
วิศวกรรมแห่งชาติ ๒๕๕๖ - การเลือกใช้เครื่องสูบน่้ำอย่างถูกต้อง วันที่ 16/11/2013   22:10:24
เอกสารประกอบการบรรยาย - ระบบท่อในโรงงานอุตสาหกรรม วันที่ 16/11/2013   21:02:45
E-Learning สภาวิศวกร - องค์ความรู้ผู้ตรวจสอบอาคาร บทที่ 18 วันที่ 29/10/2013   16:42:16
E-Learning สภาวิศวกร - องค์ความรู้ผู้ตรวจสอบอาคาร บทที่ 17 วันที่ 29/10/2013   16:39:57
E-Learning สภาวิศวกร - องค์ความรู้ผู้ตรวจสอบอาคาร บทที่ 16 วันที่ 29/10/2013   05:48:14
E-Learning สภาวิศวกร - องค์ความรู้ผู้ตรวจสอบอาคาร บทที่ 15 วันที่ 27/10/2013   08:19:42
E-Learning สภาวิศวกร - องค์ความรู้ผู้ตรวจสอบอาคาร บทที่ 14 วันที่ 25/10/2013   05:55:15
E-Learning สภาวิศวกร - องค์ความรู้ผู้ตรวจสอบอาคาร บทที่ 13 วันที่ 23/10/2013   18:25:38
E-Learning สภาวิศวกร - องค์ความรู้ผู้ตรวจสอบอาคาร บทที่ 12 วันที่ 23/10/2013   18:02:19
E-Learning สภาวิศวกร - องค์ความรู้ผู้ตรวจสอบอาคาร บทที่ 11 วันที่ 21/10/2013   22:41:45
E-Learning สภาวิศวกร - องค์ความรู้ผู้ตรวจสอบอาคาร บทที่ 10 วันที่ 18/10/2013   18:47:31
E-Learning สภาวิศวกร - องค์ความรู้ผู้ตรวจสอบอาคาร บทที่ 9 วันที่ 18/10/2013   05:57:37
E-Learning สภาวิศวกร - องค์ความรู้ผู้ตรวจสอบอาคาร บทที่ 8 วันที่ 17/10/2013   06:35:36
E-Learning สภาวิศวกร - องค์ความรู้ผู้ตรวจสอบอาคาร บทที่ 7 วันที่ 16/10/2013   05:30:35
E-Learning สภาวิศวกร - องค์ความรู้ผู้ตรวจสอบอาคาร บทที่ 6 วันที่ 16/10/2013   05:30:50
E-Learning สภาวิศวกร - องค์ความรู้ผู้ตรวจสอบอาคาร บทที่ 5 วันที่ 14/10/2013   06:43:33
E-Learning สภาวิศวกร - องค์ความรู้ผู้ตรวจสอบอาคาร บทที่ 4 วันที่ 05/10/2013   09:01:31
E-Learning สภาวิศวกร - องค์ความรู้ผู้ตรวจสอบอาคาร บทที่ 3 วันที่ 05/10/2013   09:01:01
E-Learning สภาวิศวกร - องค์ความรู้ผู้ตรวจสอบอาคาร บทที่ 2 วันที่ 05/10/2013   09:00:19
E-Learning สภาวิศวกร - องค์ความรู้ผู้ตรวจสอบอาคาร บทที่ 1 วันที่ 05/10/2013   09:02:10
มาตรฐานตรวจสอบห้องเย็น วันที่ 11/09/2013   10:12:41
ทำไมไฟฟ้าลัดวงจร แล้วมักจะเกิดเพลิงไหม้ วันที่ 20/07/2013   17:32:42
สีทนไฟ สำหรับโครงสร้างเหล็กในประเทศไทย วันที่ 17/07/2013   23:53:12
กฎหมายเกี่ยวกับ แนวเขตรถไฟ วันที่ 01/07/2013   11:10:39
อายุความฟ้องวิศวกรผู้ออกแบบ วันที่ 27/02/2013   23:06:49
การระเบิดของฝุ่นโพลีเอทิลีน (Polyethylene Powder) วันที่ 06/02/2013   07:56:54
บทเรียนจากกรณีผู้รับเหมาช่วงได้รับอันตรายจากไฟฟ้าลัดวงจรขณะปฏิบัติงาน วันที่ 06/02/2013   07:54:25
อาคารร้างใน กทม. ปัญหาที่ผู้ว่าฯกทม.ต้องแก้ไข วันที่ 27/02/2013   23:07:15 article
เพลิงไหม้จากไฟฟ้าลัดวงจร ผู้ครอบครองต้องรับผิด วันที่ 17/11/2012   07:20:58
แก้ปัญหาอาคารสูงเสี่ยงจากไฟไหม้ วันที่ 12/10/2012   19:11:48
การป้องกันอัคคีภัยในอาคารสาธารณะ วันที่ 12/10/2012   23:16:02
บัญญัติ 7 ประการ เพื่อตึกแถวปลอดอัคคีภัย วันที่ 12/10/2012   18:52:58
สารคดีเพลิงไหม้ ครั้งใหญ่ใน กทม วันที่ 12/10/2012   23:44:44
สายดินกับการป้องกันอัคคีภัย วันที่ 12/10/2012   13:55:31
การหนีเพลิงไหม้บนอาคารสูง วันที่ 10/01/2013   15:46:46 article
อาชีพผู้ตรวจสอบอาคารกำลังจะหมดไปหรือ วันที่ 01/09/2012   11:17:44
อาคารท่านซ้อมหนีไฟบ้างหรือยัง วันที่ 29/08/2012   16:38:56
วิธีเอาตัวรอดขณะเกิดแผ่นดินไหว ความเชื่อๆเก่าๆที่ให้หลบใต้โต๊ะ วันที่ 29/08/2012   16:39:24
วิธีการตรวจสอบเบื้องต้นแผ่นดินไหว วันที่ 29/08/2012   16:39:44
ประเด็นสัมภาษณ์ วันที่ 29/08/2012   16:39:59
ท่านจะเห็นข่าวแบบนี้อีกไหม วันที่ 29/08/2012   16:40:15
ทางออกตรวจสอบอาคารอย่างไรจะได้รับใบ ร.1 วันที่ 29/08/2012   16:40:31
ตรวจสอบบ้านง่ายๆหลังน้ำท่วมกันอย่างไร วันที่ 29/08/2012   16:40:48
การใช้อาคารอย่างไรให้ปลอดภัย วันที่ 29/08/2012   16:41:09



Copyright © 2012 All Rights Reserved.


  

 

สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร | THE BUILDING INSPECTORS ASSOCIATION
เลขที่ 487 ซ.รามคำแหง 39 (เทพลีลา 1) ถ.รามคำแหง
แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ 10310
โทรศัพท์: 0-2184-4612   โทรสาร: 0-2184-4613
http://www.bsa.or.th