ข้อบังคับสภาวิศวกร
ว่าด้วยหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแต่ละระดับ
สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม
พ.ศ. 2566
-----------------------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 (6) (ฉ) มาตรา 46 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติ วิศวกร พ.ศ. 2542 และกฎกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ. 2565 สภาวิศวกรโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่1/2565 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2565 และโดยความเห็นชอบของสภานายกพิเศษแห่งสภาวิศวกร ออกข้อบังคับไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ1 ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับสภาวิศวกร ว่าด้วยหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแต่ละระดับ สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2566”
ข้อ 2 ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (มีผลบังคับใช้ 22 มิถุนายน 2566)
ข้อ 3 ให้ยกเลิกข้อบังคับสภาวิศวกร ว่าด้วยหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแต่ละระดับ สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2551
ข้อ 4 ให้งาน ประเภทและขนาดของงานวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ. 2565
ข้อ 5 ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ระดับวุฒิวิศวกร ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ได้ทุกงาน ทุกประเภทและทุกขนาด
ข้อ 6 ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ระดับสามัญวิศวกร ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ได้เฉพาะงานวางโครงการ งานออกแบบและคำนวณ งานควบคุมการสร้างหรือการผลิต งานพิจารณาตรวจสอบ หรืองานอำนวยการใช้ ได้ทุกประเภทและทุกขนาด
ข้อ 7 ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ระดับภาคีวิศวกร ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ได้เฉพาะงาน ประเภทและขนาด ดังนี้
(1) งานออกแบบและคำนวณ
(ก) ระบบประปาที่มีอัตรากำลังผลิตสูงสุดไม่เกิน 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
(ข) ระบบน้ำสะอาดสำหรับ
1) ชุมชนหรืออาคารที่มีอันตราการผลิตหรืออัตราการจ่ายน้ำไมเกิน 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
2) โรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานที่มีอัตราจ่ายน้ำสูงสุดไม่เกิน 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
(ค) ระบบน้ำเสียสำหรับ
1) ชุมชนหรืออาคารที่สามารถรองรับน้ำเสียในอัตรากำลังสูงสุดไม่เกิน 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
2) โรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานที่มีระบบน้ำเสียสูงสุดไม่เกิน 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
(ง) ระบบการนำน้ำทิ้งกลับมาใช้ใหม่สำหรับ
1) ชุมชนหรืออาคารที่สามารถรองรับน้ำทิ้งในอัตรากำลังสูงสุดไม่เกิน 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
2) โรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานที่มีระบบการนำน้ำทิ้งกลับมาใช้ใหม่สูงสุด ไม่เกิน 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
(จ) ระบบระบายน้ำสำหรับ
1) พื้นที่ที่มีปริมาณน้ำรวมกันไม่เกิน 20,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
2) พื้นที่จัดสรรที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดินไม่เกิน 499 แปลงของพื้นที่จัดสรรที่ดิน หรือพื้นที่โครงการไม่เกิน 100 ไร่
(ฉ) ระบบควบคุมมลพิษทางอากาศของสถานที่ที่มีแหล่งกำเนิดมลพิษตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่มีปริมาตรการระบายอากาศไม่เกิน 900 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง
(ช) ระบบการจัดการขยะมูลฝอยในสถานที่ ดังนี้
1) ชุมชนที่มีปริมาณขยะมูลฝอยไม่เกิน 10,000 กิโลกรัมต่อวัน
2) โรงงาน อาคารสาธารณะ หรืออาคารขนาดใหญ่ที่มีปริมาณขยะมูลฝอยไม่เกิน 4,000 กิโลกรัมต่อวัน
(ซ) ระบบดับเพลิงหรือป้องกันอัคคีภัยที่มีมูลค่ารวมตั้งแต่สามล้านบาทต่อระบบขึ้นไป หรือที่มีพื้นที่ป้องกันอัคคีภัยไม่เกิน 4,000 ตารางเมตร
(ฌ) ระบบน้ำบาดาลหรือระบบเติมน้ำลงในชั้นน้ำบาดาล ที่มีปริมาณไม่เกิน 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
(ฏ) การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับงานวิศวกรรรมสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมทุกขนาด
(2) งานควบคุมการสร้างหรือการผลิต งานพิจารณาตรวจสอบ หรืองานอำนวยการใช้ ทุกประเภทและทุกขนาด
ข้อ 8 ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ระดับภาคีวิศวกรพิเศษ ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมได้ ตามงาน ประเภท และขนาดที่ระบุไว้ในใบอนุญาต
ข้อ 9 ในกรณีที่ต้องมีการวินิจฉัยชี้ขาดหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแต่ละระดับ สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ตามข้อบังคับนี้ ให้คณะกรรมการสภาวิศวกร เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด คำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการสภาวิศวกรให้เป็นที่สุด
ข้อ10 ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ซึ่งประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามระดับ และสาขาที่ระบุไว้ในใบอนุญาต ภายในข้อกำหนดและเงื่อนไขตามกฎกระทรวง กำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ. 2550 อยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้ มีผลใช้บังคับให้ผู้นั้นประกอบการงานนั้นต่อไปได้จนกว่างานจะแล้วเสร็จ ทั้งนี้ ไม่เกินสามปีนับแต่วันที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับ
ประกาศ ณ วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2566
รองศาสตราจารย์ปิยะบุตร วานิชพงษ์พันธุ์
นายกสภาวิศวกร
เล่ม 140 ตอนพิเศษ 146 ง ราชกิจจานุเบกษา 21 มิถุนายน 2566