ReadyPlanet.com
dot
ฐานข้อมูลกรมโยธาธิการและผังเมือง
กฎหมายเกี่ยวกับตรวจสอบอาคาร
ศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถตามมาตรา ๒๖/๔ (๒) สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร




ป้ายบอกทางหนีไฟ ตัวอักษร หรือ ป้ายบอกทางหนีไฟ สัญลักษณ์
วันที่ 17/05/2013   06:37:10

ป้ายทางหนีไฟ จำเป็นหรือไม่? ที่ต้องมีตัวหนังสือกำกับ หากเจ้าหน้าที่รัฐ บางคนบอกต้องมีตัวหนังสือกำกับ ถึงจะออกใบอนุญาตเปิดใช้อาคารได้ ผมว่าจริงๆแล้ว มาตรฐานเป็นสัญญาลักษณ์และลูกศร หนีไฟ ขนาดมาตรฐานเป็นอย่างน้อยน่าจะพอเพียงแล้ว ฝาก ตปอ.ตอบด้วยครับ
  •  
    สมาคมผู้ตรวจสอบฯ ตปอ สมาคมฯ ในฐานะศูนย์รวมของผู้ตรวจสอบอาคาร และประเทศไทย ซึ่งกำลังเปิดการค้าเสรีอาเซียน จะมีผู้คนหลากชาติหลากภาษา เข้ามาอาศัยและประกอบอาชีพในประเทศไทย และขณะที่คนไทย หลากอายุ ก็เดินทางต่างประเทศ ทำงาน หรืออาศัยในต่างประเทศ ป้ายทางหนีไฟ ในลักษณะสัญลักษณ์ ตามมาตรฐานสากล จึงเป็นป้ายที่ป้ายเหมาะอย่างยิ่ง วสท ร่วมกับ สมอ ออกมาตรฐานป้ายทางหนีไฟ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สากล

    คลิ๊กที่ลิงก์นี้ รายละเอียดเพิ่มเติม ป้ายบอกทางหนีไฟ มาตรฐาน วสท
    http://www.bsa.or.th/ความรู้เกี่ยวกับป้ายทางหนีไฟ/ป้ายทางหนีไฟได้มาตรฐานวสท.html

    ในขณะที่ กรมโยธาธิการและผังเมือง ก็ออกมาตรฐานป้ายบอกทางหนีไฟ เช่นเดียวกัน คือ มยผ 8301 ซึ่งมีตัวอักษรกำกับ

    คลิ๊กที่ลิงก์นี้ รายละเอียดเพิ่มเติม ป้ายบอกทางหนีไฟ มาตรฐานกรมโยธาธิการและผังเมือง
    http://www.bsa.or.th/ความรู้เกี่ยวกับป้ายทางหนีไฟ/ป้ายทางหนีไฟ-มาตรฐานกรมโยธาธิการและผังเมือง.html

    คำถามเชิงตัดสินใจ จึงมีว่า ประเทศไทย มี ๒ มาตรฐาน แล้วจะใช้มาตรฐานใดดี
     
  •  
    สมาคมผู้ตรวจสอบฯ ตปอ ก่อนตอบคำถามข้างต้น มาดูกฎกระทรวง ทีละกฎกระทรวง

    กฎกระทรวง ฉบับที่ 47
    เป็นกฎกระทรวง อเนกประสงค์ ที่ใช้ย้อนหลังกับอาคารสารพัดอาคาร ที่ขออนุญาตก่อสร้าง ก่อนปี 2535 ไล่ตั้งแต่
    อาคารสูง
    อาคารขนาดใหญ่พิเศษ
    อาคารขนาดใหญ่
    อาคารสาธารณะ
    อาคารอยู่อาศัยรวม
    โรงงาน
    ภัตตาคาร
    และสำนักงาน

    กล่าวถึงป้ายบอกทางหนีไฟ ไว้ในข้อ 5 (5) ของกฎกระทรวงดังกล่าว ว่า

    (๕) ติดตั้งระบบไฟส่องสว่างสำรองเพื่อให้มีแสงสว่างสามารถมองเห็นช่องทางเดินได้ขณะเพลิงไหม้ และมีป้ายบอกชั้นและป้ายบอกทางหนีไฟที่ด้านในและด้านนอกของประตูหนีไฟทุกชั้น ด้วยตัวอักษรที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน โดยตัวอักษรต้องมีขนาดไม่เล็กกว่า ๑๐ เซนติเมตร

    อ่านรายละเอียดกฎกระทรวงดังกล่าว คลิ๊่กลิงก์ที่นี่
    http://www.bsa.or.th/กฎหมาย/กฎกระทรวง-ฉบับที่--47-พศ-2540.html

    กฎกทรวงดังกล่าว บังคับป้ายบอกทางหนีไฟ ต้องมีตัวอักษร
     
  •  
    Wattana Lekkhla ขอขอบคุณ สมาคมของเราที่ให้ข้อมูล สำหรับไว้ใช้อ้างอิงกับผู้เกี่ยวข้องต่อไปครับ ...
    ขอแสดงความนับถือ
    นายวัฒนา เหล็กกล้า
    ผตส. บ.1673/2551

    ส่งจาก iPhone 4S WL
     
  •  
    สมาคมผู้ตรวจสอบฯ ตปอ กฎกระทรวง ฉบับที่ 39 
    เป็นกฎกระทรวงที่้ใช้กับ 
    ห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว บ้านแฝด
    อาคารที่ใช้เป็นที่ชุมนุมของประชาชน

    น่าสนใจ กับคำนิยาม ของคำว่า "อาคารที่ใช้เป็นที่ชุมนุมของประชาชน" ว่า จะเป็นความหมายอีกกันกับคำว่า "อาคารชุมนุมคน" หรือไม่

    ข้อ 2 (2) ของกฎกระทรวงดังกล่าว กล่าวถึง "อาคารที่ใช้เป็นที่ชุมนุมของประชาชน" ว่า

    (2) อาคารที่ใช้เป็นที่ชุมนุมของประชาชน เช่น โรงมหรสพ หอประชุมโรงแรม สถานพยาบาล สถานศึกษา หอสมุด สถานกีฬาในร่ม ตลาด ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า สถานบริการ ท่าอากาศยาน อาคารจอดรถ สถานีขนส่งมวลชน ที่จอดรถ ท่าจอดเรือ ภัตตาคาร สำนักงาน สถานที่ทำการของราชการ โรงงานและอาคารพาณิชย์ เป็นต้น

    กลับมาเรื่อง ป้ายบอกทางหนีไฟ

    กฎกระทรวงนี้ บังคับ อาคารที่ใช้เป็นที่ชุมนุมของประชาชน ในข้อ 7 ว่า 

    "ข้อ 7 อาคารตามข้อ 2 (2) และ (3) ที่มีความสูงตั้งแต่ 2 ชั้น ขึ้นไป และอาคารตามข้อ 2 (4) ที่มีพื้นที่รวมกันทุกชั้นในหลังเดียวกันเกิน 2,000 ตารางเมตร ในแต่ละชั้นต้องมีป้ายบอกชั้นและป้ายบอกทางหนีไฟด้วยตัวอักษรขนาดที่มีความสูงไม่น้อยกว่า 10 เซนติเมตร หรือสัญลักษณ์ที่อยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นได้ชัดเจนตลอดเวลา และต้องมีแสงสว่างจากระบบไฟฟ้าฉุกเฉินเพียงพอที่จะมองเห็นช่องทางหนีไฟได้ชัดเจนขณะเพลิงไหม้"

    อ่านรายละเอียดกฎกระทรวง เพิ่มเติม คลิ๊กที่ลิงก์นี้
    http://www.bsa.or.th/กฎหมาย/กฎกระทรวง-ฉบับที่-39-พศ-2537.html

    กฎกระทรวงนี้ ยอมให้ใช้ ป้ายบอกทางหนีไฟ เป็นตัวอักษร หรือเป็นสัญลักษณ์ ก็ได้

    กฎกระทรวงนี้ ค่อยยังชั่วหน่อย ให้ผู้ออกแบบ หรือเจ้าของ ได้เลือกใช้ป้าย มาตรฐาน วสท หรือ มาตรฐาน มยผ
     
  •  
    สมาคมผู้ตรวจสอบฯ ตปอ กฎกระทรวง ฉบับที่ 33
    กฎกระทรวง สำหรับ อาคารสูง หรือ อาคารขนาดใหญ่พิเศษ ที่ขออนุญาตก่อสร้าง หลังปี 2535 

    กล่าวไว้ในข้อ 26 ว่า
    "ข้อ 26 บันไดหนีไฟที่อยู่ภายในอาคารต้องมีผนังกันไฟโดยรอบ ยกเว้นช่องระบายอากาศ และต้องมีแสงสว่างจากระบบไฟฟ้าฉุกเฉินให้มองเห็นช่องทางได้ขณะเพลิงไหม้ และมีป้ายบอกชั้นและป้ายบอกทางหนีไฟที่ด้านในและด้านนอกของประตูหนีไฟทุกชั้นด้วยตัวอักษรที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน โดยตัวอักษรต้องมีขนาดไม่เล็กกว่า 10 เซนติเมตร"

    อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม คลิ๊กที่ลิงก์
    http://www.bsa.or.th/กฎหมาย/กฎกระทรวง-ฉบับที่-33-พศ-2535.html

    กฎกระทรวงนี้ไม่ให้ทางเลือก กำกับให้ใช้ป้ายบอกทางหนีไฟ ที่มีตัวอักษร
     
  •  
    สมาคมผู้ตรวจสอบฯ ตปอ กฎกระทรวง เกี่ยวกับ ประกอบกิจการสถานบริการ

    อ่านรายละเอียดกฎกระทรวงเพิ่มเติม คลิ๊กที่ลิงก์นี้
    http://www.bsa.or.th/กฎหมาย/กฎกระทรวง-กำหนดประเภทและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้เพื่อประกอบกิจการเป็นสถานบริการ-พศ-๒๕๕๕.html

    ข้อ 30 (1) เขียนว่า
    "(๑) เหนือทางออกหรือประตูทางออกต้องมีป้ายบอกทางหนีไฟด้วยตัวอักษรหรือสัญลักษณ์แสดงทางหนีไฟที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนตลอดเวลาโดยรายละเอียดของตัวอักษรหรือสัญลักษณ์ดังกล่าวให้เป็นไปตามมาตรฐานว่าด้วยป้ายบอกทางหนีไฟของกรมโยธาธิการและผังเมืองหรือมาตรฐานอื่นที่คณะกรรมการควบคุมอาคารให้การรับรอง"

    ให้ทางเลือก ว่าใช้ของ มาตรฐาน มยผ หรือ มาตรฐานอื่น (วสท) ... คิดว่า คณะกรรมการควบคุมอาคาร คงให้การรับรอง มาตรฐาน วสท
     
  •  
    สมาคมผู้ตรวจสอบฯ ตปอ กฎกระทรวง เกี่ยวกับ การประกอบกิจการโรงมหรสพ

    ข้อ 24 กล่าวเกี่ยวกับ ป้ายบอกทางหนีไฟ ว่า
    "ข้อ ๒๔ ทางหนีไฟจะต้องมีส่วนปิดล้อมที่ไม่มีช่องให้ไฟหรือควันจากภายนอกผ่านเข้ามาได้และส่วนปิดล้อมนี้ต้องมีอัตราการทนไฟได้ไม่น้อยกว่าสองชั่วโมง และมีประตูหนีไฟซึ่งมีขนาดความกว้าง ระบบระบายอากาศ ระบบอัดลมภายใน แสงสว่างจากไฟฟ้าฉุกเฉินและป้ายบอกทางหนีไฟเช่นเดียวกับบันไดหนีไฟตามกฎกระทรวงซึ่งออกตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารเกี่ยวกับอาคารสูง"

    ให้ใช้ ป้ายบอกทางหนีไฟ แบบเดียวกับที่กำหนดให้ใช้กับอาคารสูง
    ก็ต้องใช้ป้ายที่มีตัวอักษร

    อ่านรายละเอียดกฎกระทรวงเพิ่มเติม คลิ๊กที่นี่
    http://www.bsa.or.th/กฎหมาย/กฎกระทรวง-ว่าด้วยการอนุญาตให้ใช้อาคารเพื่อประกอบกิจการโรงมหรสพ-ประเภทและระบบความปลอดภัยของโรงมหรสพ-แ.html
     
  •  
    สมาคมผู้ตรวจสอบฯ ตปอ กฎกระทรวง กำหนดเงื่อนไขในการใช้ การเก็บรักษา
    และการมีไว้ในครอบครอง ซึ่งสิ่งที่ทำให้เกิดอัคคีภัยได้ง่าย
    และกิจการอันอาจทำให้เกิดอัคคีภัยได้ง่ายและการจัดให้มีบุคคลและสิ่งจำเป็น ในการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. ๒๕๔๘

    อ่านรายละเอียดกฎกระทรวง คลิ๊กที่นี่
    http://www.bsa.or.th/กฎหมาย/กฎกระทรวง-กำหนดเงื่อนไขในการใช้-การเก็บรักษา-และการมีไว้ในครอบครอง-ซึ่งสิ่งที่ทำให้เกิดอัคคีภัยได้ง่.html

    ข้อ 9 (4) กล่าวเกี่ยวกับ ป้ายบอกทางหนีไฟ ว่า

    "(๔) ระบบไฟส่องสว่างสำรอง ป้ายบอกชั้น และป้ายบอกทางหนีไฟ"

    ไม่ระบุรายละเอียดคุณสมบัติ ก็กำหนดเพียงให้ มี
     
  •  
    สมาคมผู้ตรวจสอบฯ ตปอ ส่วนกฎกระทรวงนี้ เป็นของกระทรวงแรงงาน

    กฎกระทรวง
    กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. ๒๕๕๕

    อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม คลิ๊กที่นี่
    http://www.bsa.or.th/กฎหมาย/กฎกระทรวงเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย-พศ-๒๕๕๕.html

    ข้อ 11 กล่าวเกี่ยวกับป้ายบอกทางหนีไฟ ว่า
    "ข้อ ๑๑ ให้นายจ้างจัดให้มีป้ายบอกทางหนีไฟที่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้
    (๑) ขนาดของตัวหนังสือต้องสูงไม่น้อยกว่าสิบห้าเซนติเมตร และเห็นได้อย่างชัดเจน
    (๒) ป้ายบอกทางหนีไฟต้องมีแสงสว่างในตัวเองหรือใช้ไฟส่องให้เห็นได้อย่างชัดเจนตลอดเวลา ทั้งนี้ ต้องไม่ใช้สีหรือรูปร่างที่กลมกลืนไปกับการตกแต่งหรือป้ายอื่น ๆ ที่ติดไว้ใกล้เคียง หรือโดยประการใดที่ทำให้เห็นป้ายไม่ชัดเจน
    นายจ้างอาจใช้รูปภาพบอกทางหนีไฟตามมาตรฐานของสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ ทั้งนี้ ต้องให้เห็นได้อย่างชัดเจน"

    ก็จะใช้แบบมีตัวอักษรก็ได้ หรือ แบบสัญลักษณ์ของ วสท ก็ได้
     
  •  
    สมาคมผู้ตรวจสอบฯ ตปอ ก็โดยสรุปว่า ถ้าเจ้าหน้าที่โยธา ผู้กำลังพิจารณาออกใบอนุญาตใช้อาคาร ยึดกฎกระทรวงเป็นไม้บรรทัด กฎกระทรวงที่กำหนดให้ใช้ ตัวอักษรอย่างเดียว เช่น กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 กับกฎกระทรวง ฉบับที่ 47 ก็ต้องใช้ ป้ายบอกทางหนีไฟ ที่มีตัวอักษร เมื่อได้ใบอนุญาตเปิดใช้อาคาร อาจจะใช้ป้ายบอกทางหนีไฟที่เป็นสัญลักษณ์ ก็รื้อป้ายเดิม แล้วติดป้ายใหม่ตามมาตรฐานสากล (ก็แปลกดี กับสังคมของเรา)

    ส่วนอาคารที่ ใช้กฎกระทรวง ฉบับที่ 39 โรงมหรสพ กับสถานบริการ มีอิสระในการเลือกใช้ป้ายทางหนีไฟ จะเป็นตัวอักษร ก็ได้ หรือ เป็นสัญลักษณ์ ก็ได้
    (ก็แปลกดี)
     
  •  
    Songkran Menthong ขอบคุณมากครับ
     
  •  
    Kitti Sukutamatunti ขอเรียนชี้แจงดังนี้
    การพิจารณากฎหมายอ้างอิง จำเป็นต้องพิจารณาเกี่ยวกับเวลาด้วย
    • ในปี พ.ศ. 2535 ได้มีการออก กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้กำหนดให้ใช้ป้ายทางหนีไฟที่เป็นตัวอักษร
    • ในปี พ.ศ. 2537 ได้มีการออก กฎกระทรวง ฉบับที่ 39 (พ.ศ.2537) ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ข้อ 7 ได้กำหนดให้ใช้ ป้ายบอกทางหนีไฟด้วยตัวอักษรขนาดที่มีความสูงไม่น้อยกว่า 10 เซนติเมตร หรือสัญลักษณ์ที่อยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นได้ชัดเจนตลอดเวลา และต้องมีแสงสว่างจากระบบไฟฟ้าฉุกเฉินเพียงพอที่จะมองเห็นช่องทางหนีไฟได้ชัดเจนขณะเพลิงไหม้
    • ในปี พ.ศ. 2540 ได้มีการออก กฎกระทรวง ฉบับที่ 47 (พ.ศ. 2540) ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ข้อ 5 ได้กำหนดให้ใช้ป้ายบอกทางหนีไฟ ด้วยตัวอักษรที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน โดยตัวอักษรต้องมีขนาดไม่เล็กกว่า ๑๐ เซนติเมตร
    • ในปี พ.ศ. 2543 สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ร่วมกับ สมาคมไฟฟ้าแสงสว่างแห่งประเทศไทย (TIEA) ได้จัดทำมาตรฐานโคมไฟฟ้าป้ายทางออก ซึ่งแล้วเสร็จเริ่มเผยแพร่ใช้งาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 ซึ่งกำหนดให้ใช้สัญลักษณ์รูปภาพสากลตามมาตรฐาน ISO 
    • แต่ในปี พ.ศ. 2551 กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้จัดทำมาตรฐานป้ายบอกทางหนีไฟ ตามมาตรฐาน มยผ. 8301 (พ.ศ. 2551) ซึ่งกำหนดให้ป้ายทางหนีไฟ มีตัวอักษรกำกับ ซึ่งขัดแย้งกับมาตรฐาน วสท. โดย วสท.ได้ทำหนังสือชี้แจงและท้วงแย้งและขอคำอธิบาย แต่กรมโยธาธิการและผังเมืองไม่ตอบจดหมายดังกล่าว เนื่องจากการเจตนากำหนดมาตรฐานที่ลดคุณภาพความปลอดภัยของป้ายทางออก อาทิ การตัดสัญลักษณ์รูปภาพที่คนทุกชาติเห็นแล้วเข้าใจ หรือ การแก้ไขลักษณะป้ายที่ส่องสว่าง ให้เป็นป้ายที่ไม่สว่าง ถือเป็นการลดความปลอดภัยที่คาดหวังผลอันตรายที่จะตามมาได้ อันถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
     
  •  
    Kitti Sukutamatunti • ในปี พ.ศ. 2552 วสท. ได้ร่วมกับ TIEA และ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สมอ.) ในการจัดทำมาตรฐาน มอก. ของโคมไฟฟ้าป้ายทางออก ให้เป็นมาตรฐานระดับชาติ ตาม มาตรฐาน มอก. 2430-2552 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับที่ 4220 (พ.ศ. 2553) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 4 ส.ค. 2553 จึงทำให้มีมาตรฐาน มอก. ของ โคมไฟฟ้าป้ายทางออก ที่ใช้สัญลักษณ์รูปภาพ ซึ่งในปัจจุบัน สัญลักษณ์รูปภาพนี้ก็ได้รับความยอมรับใช้ในหลายประเทศทั่วโลก อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน อ่องกง สิงคโปร์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และ รวมถึง ยุโรป และ บางรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกา ( ส่วนโคมไฟป้ายทางออกที่เป็นตัวอักษร นั้นไม่มีมาตรฐาน มอก. รองรับ ดังนั้นผู้ออกแบบและผู้ติดตั้งที่เลือกใช้อุปกรณ์ในระบบป้องกันอัคคีภัยที่ไม่ได้มาตรฐาน และไม่มีมาตรฐาน มอก. รองรับ จึงจำเป็นต้องรับความเสี่ยงจากความไม่ปลอดภัยและจากการโดนฟ้องร้องเอง )
    • ในปี พ.ศ. 2556 ได้มีการออก กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. ๒๕๕๕ ตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และ สภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2556 ตามข้อกำหนด "ข้อ ๑๑ กำหนดให้ป้ายบอกทางหนีไฟที่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้
    (๑) ขนาดของตัวหนังสือต้องสูงไม่น้อยกว่าสิบห้าเซนติเมตร และเห็นได้อย่างชัดเจน
    (๒) ป้ายบอกทางหนีไฟต้องมีแสงสว่างในตัวเองหรือใช้ไฟส่องให้เห็นได้อย่างชัดเจนตลอดเวลา ทั้งนี้ ต้องไม่ใช้สีหรือรูปร่างที่กลมกลืนไปกับการตกแต่งหรือป้ายอื่น ๆ ที่ติดไว้ใกล้เคียง หรือโดยประการใดที่ทำให้เห็นป้ายไม่ชัดเจน
    นายจ้างอาจใช้รูปภาพบอกทางหนีไฟตามมาตรฐานของสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ ทั้งนี้ ต้องให้เห็นได้อย่างชัดเจน"
     
  •  
    Kitti Sukutamatunti ดังนั้นแนวปฏิบัติสำหรับผู้เกี่ยวข้อง หากกฎหมายที่อ้างอิงมีข้อขัดแย้งกัน ตามหลักกฎหมาย หากกฎกระทรวงเก่าและใหม่ ขัดแย้งกันให้ยึดถือตามกฎกระทรวงที่ใหม่กว่า ดังนั้นจึงไม่สามารถอ้างอิงลักษณะป้ายบอกทางหนีไฟตาม กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 หรือ กฎกระทรวง ฉบับที่ 47 ได้ แต่ต้องอ้างอิงตามกฎกระทรวงฉบับใหม่ล่าสุด ในปี พ.ศ. 2556 คือ กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. ๒๕๕๕ ตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และ สภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2556 โดยกฎหมายฉบับล่าสุดดังกล่าวได้กำหนดให้ใช้ป้ายบอกทางหนีไฟ ที่เป็นตัวหนังสือ หรือ สัญลักษณ์รูปภาพตามมาตรฐาน วสท. 
    ดังนั้นเจ้าหน้าที่โยธา ผู้พิจารณาออกใบอนุญาตใช้อาคาร จะไม่สามารถห้ามการใช้สัญลักษณ์รูปภาพตามมาตรฐาน วสท.ได้ เพราะจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

    จึงเรียนมาเพื่อทราบ

    พ.ต.ต. กิตติ สุขุตมตันติ
    เลขานุการคณะกรรมการจัดทำมาตรฐานการตรวจสอบอาคาร 
    เลขานุการคณะกรรมการมาตรฐานประกอบวิชาชีพวิศวกรรม 
    เลขานุการคณะทำงานจัดทำมาตรฐานระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินและโคมไฟฟ้าป้ายทางออก 
    เลขานุการคณะกรรมการจัดทำมาตรฐาน มอก. โคมไฟฟ้าป้ายทางออก 
    กรรมการสมาคมไฟฟ้าแสงสว่างแห่งประเทศไทย
     
  •  
    วิเชียร บุษยบัณฑูร เป็นคำแนะนำที่ดีมากๆ ดังนั้น สำหรับท่านใด มีกรณีเจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่รับฟังคำชี้แจงข้างต้น เราก็สามารถใช้วิธีทำหนังสือหารือกรณีดังกล่าวกับคณะกรรมการควบคุมอาคาร ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่ง ว่า คำตอบจากคณะกรรมการควบคุมอาคารจะให้แนวทางออกอย่างไร
     
  •  
    สมาคมผู้ตรวจสอบฯ ตปอ ประเด็นคุยเพิ่มพูนความรู้นี้ เดี๋ยวจะขออนุญาตสำเนาขึ้นเว็บไซต์สมาคม จะได้มีไว้อ้างอิงนานๆ
     

 




ความรู้เกี่ยวกับป้ายทางหนีไฟ

วิศวกรรมแห่งชาติ ๒๕๕๖ - ตัวอย่างการติดตั้งโคมไฟฟ้าฉุกเฉิน วันที่ 16/12/2013   12:51:53
reference เผื่อเลือกใช้ติตตั้ง emergency lighting วันที่ 16/06/2013   21:02:10
มาตรฐานควรรู้เกี่ยวกับระบบไฟฟ้าฉุกเฉินและโคมไฟป้ายทางออกฉุกเฉิน วันที่ 03/02/2013   21:40:04
ชวนมาอ่านมาตรฐานไฟฟ้าฉุกเฉินกันเถอะ วันที่ 11/01/2013   07:22:28
ป้ายทางหนีไฟ มาตรฐานกรมโยธาธิการและผังเมือง วันที่ 10/12/2012   13:03:06 article
ป้ายทางหนีไฟได้มาตรฐาน_วสท วันที่ 27/11/2012   12:35:59 article



Copyright © 2012 All Rights Reserved.


  

 

สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร | THE BUILDING INSPECTORS ASSOCIATION
เลขที่ 487 ซ.รามคำแหง 39 (เทพลีลา 1) ถ.รามคำแหง
แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ 10310
โทรศัพท์: 0-2184-4612   โทรสาร: 0-2184-4613
http://www.bsa.or.th